ธุรกิจครอบครัวกับตลาดต่างประเทศ

10 เม.ย. 2560 | 11:00 น.
อาจกล่าวได้ว่าธุรกิจครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจส่วนใหญ่ และเป็นลักษณะธุรกิจที่สำคัญในระบบธุรกิจโลก รวมถึงในสหรัฐอเมริกาที่ธุรกิจครอบครัวยังคงเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจในประเทศ เมื่อ ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PricewaterhouseCoopers :PwC) ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้มีอำนาจตัดสินใจในธุรกิจครอบครัว จำนวน 160 รายในสหรัฐอเมริกาโดยการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์และออนไลน์ ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2016 พบว่า ธุรกิจครอบครัวเกือบทั้งหมดคาดหวังการเติบโตของยอดขายมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยธุรกิจครอบครัวเกือบ 60% มีการส่งออกสินค้าหรือบริการไปยังต่างประเทศ และ 66% บอกว่าจะทำการส่งออกภายใน 5 ปีนี้ (ภาพที่ 1)

[caption id="attachment_139602" align="aligncenter" width="503"] ธุรกิจครอบครัวกับตลาดต่างประเทศ ธุรกิจครอบครัวกับตลาดต่างประเทศ[/caption]

ทั้งนี้ธุรกิจครอบครัวคาดการณ์ว่ายอดขายในต่างประเทศจะช่วยให้ยอดขายของพวกเขาเพิ่มขึ้น 14% ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 11% เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจธุรกิจครอบครัวในปี 2012 ยอดขายในต่างประเทศคิดเป็น 7% ของรายได้โดยรวมและพวกเขาคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10% ในปี 2017 ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นจึงเกินความคาดหมายของพวกเขา อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณายอดขายในต่างประเทศเป็นเปอร์เซ็นต์โดยรวมของรายได้จะเห็นว่าต่ำกว่าในกลุ่มผู้ส่งออกของบริษัทเอกชนโดยทั่วไปซึ่งมีรายได้โดยเฉลี่ย 20% ของรายได้โดยรวมจากการขายในต่างประเทศและสามารถคาดการณ์อัตราการเติบโตของรายได้รวดเร็วกว่าบริษัทที่คล้ายคลึงกันในประเทศเท่านั้น

ดังนั้นต้องมาพิจารณาดูว่าธุรกิจครอบครัวสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อเก็บเกี่ยวจากตลาดต่างประเทศให้ได้มากขึ้น ซึ่งโดยมากมักต้องเป็นการเรียนรู้โดยการลงมือทำเอง และบางครั้งการเรียนรู้ที่เราสามารถทำได้ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนความผิดพลาดจากที่เราได้ลงมือทำจริง ทั้งนี้วิธีที่สำคัญในการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายตามมาก็คือการทำความเข้าใจว่าวิธีการเดียวที่เหมาะกับทุกรูปแบบในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศที่แตกต่างกันนั้นไม่มีอยู่จริง เนื่องจากรสนิยมของผู้บริโภค เครือข่ายการจัดจำหน่ายและข้อกำหนดด้านอายุการใช้งานและปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายในประเทศเดียวมีอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค จึงมีความแตกต่างกันมากมายในแต่ละประเทศ ดังนั้นหากบริษัทไม่สามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเพื่อช่วยในการชี้แนะแนวทางในเรื่องที่มีความซับซ้อนเหล่านี้ได้ ก็ควรมองหาคำแนะนำจากภายนอก รวมทั้งจากเพื่อนในวงการอุตสาหกรรมเดียวกันซึ่งเคยมีโอกาสทำผิดพลาดจากการเป็นผู้ส่งออกและเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์จากพวกเขาให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

ที่มา: PwC. 2017. The Missing Middle: Bridging The Strategy Gap in US Family Firms . US Family Business Survey. www.pwc.com/pcs.

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,251วันที่ 9 - 12 เมษายน พ.ศ. 2560