แก้ขาดดุลจีน โจทย์หิน‘ทรัมป์’ ส่อทะลุ3แสนล้านดอลลาร์ติดต่อเป็นปีที่ 4

10 เม.ย. 2560 | 01:00 น.
ทั่วโลกจับตาการหารือระหว่าง 2 ผู้นำจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก “โดนัลด์ ทรัมป์” และ“สี จิ้น ผิง” ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะท่าทีด้านการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ แม้ความพยายามของทรัมป์ที่ต้องการลดการขาดดุลการค้ากับจีนไม่ใช่งานง่าย

นายโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวก่อนการหารือกับนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีของจีน ที่รีสอร์ตมาร์อาลาโก รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 6-7 เมษายนที่ผ่านมา ยอมรับว่าการพบปะกับผู้นำจีนในครั้งนี้จะเป็นการหารือที่ยากลำบากโดยบริษัทสหรัฐฯ จะต้องเตรียมมองหาทางเลือกอื่น เพื่อไม่ให้เกิดการขาดดุลการค้ามูลค่ามหาศาลและการสูญเสียงานให้กับจีนเหมือนเช่นที่ผ่านมา

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองมาโดยตลอดนับตั้งแต่ทรัมป์ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังจากทรัมป์กล่าววิพากษ์วิจารณ์จีนมาตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้งว่าจีนทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรม และพร้อมที่จะออกมาตรการเพื่อตอบโต้ทางจีน เป็นเหตุให้เกิดความกังวลว่าอาจจะเกิดสงครามการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องกับการค้าโลกโดยรวม

ในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ส่งสินค้าออกไปยังจีนเป็นมูลค่า 1.16 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯโดยจีนเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่อันดับ 3 ของประเทศรองจากแคนาดาและเม็กซิโก แต่ในทางกลับกัน การนำเข้าสินค้าจากจีนมีมูลค่า 4.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้การขาดดุลการค้าอยู่ที่ 3.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการขาดดุลมูลค่าสูงที่สุดในบรรดาคู่ค้าของสหรัฐฯทั้งหมด

แม้ว่าทรัมป์จะได้รับข่าวดีก่อนการหารือกับนายสี ว่ามูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับจีนในเดือนกุมภาพันธ์ลดลงมาเหลือ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 3.13 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมกราคมหรือลดลง 26.6% แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่าสาเหตุที่ลดลงนั้นเป็นปัจจัยชั่วคราวจากการที่ผู้ผลิตชาวจีนเร่งส่งสินค้าออกในเดือนมกราคม ก่อนที่จะปิดโรงงานในช่วงวันหยุดตรุษจีน ขณะเดียวกันเมื่อประเมินจากมูลค่าการขาดดุลในช่วง 2 เดือนแรกของปี มีความเป็นไปได้ที่ปีนี้การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับจีนจะสูงเกินกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน

อย่างไรก็ตาม สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ว่า ความพยายามของทรัมป์ในการลดการขาดดุลกับจีนจะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหนัก ไม่ว่าการเจรจาระหว่างผู้นำทั้ง 2 ออกมาเป็นอย่างไร เหตุผลสำคัญเนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าสำหรับผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่สหรัฐฯนำเข้าจากจีน อาทิ เสื้อผ้าโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์โทรทัศน์ หรือเฟอร์นิเจอร์ มีขนาดเล็กลงอย่างมาก และจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการสร้างอุตสาหกรรมเหล่านี้ขึ้นมาใหม่

แต่กระนั้นก็มีความหวังว่าหนึ่งในแผนการที่รัฐบาลทรัมป์จะนำมาใช้ คือการกดดันให้จีนลดอุปสรรคการค้า และเปิดตลาดเสรีให้กับสินค้าอเมริกันมากขึ้นจะประสบผลสำเร็จในการลดการขาดดุลการค้า เหมือนเช่นที่สหรัฐฯทำสำเร็จกับญี่ปุ่นในช่วง 30 ปีก่อน

ขณะที่ภาคธุรกิจก็หวังว่าการหารือระหว่างผู้นำทั้ง 2ประเทศจะไม่นำไปสู่การตอบโต้กันทางการค้า “ผู้นำทั้ง 2 จำเป็นต้องใช้มาตรการในเชิงบวกที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่คงทน ไม่ใช่มาตรการตอบโต้กันที่จะนำไปสู่สงครามการค้า” นายเจค็อบพาร์คเกอร์ รองประธานฝ่ายปฏิบัติการในจีนของสภาธุรกิจสหรัฐฯ-จีน กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,251วันที่ 9 - 12 เมษายน พ.ศ. 2560