ธปท.ผ่อนเกณฑ์ร่วมทุน เร่งSMEsเข้าถึงแหล่งเงิน

10 เม.ย. 2560 | 10:00 น.
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี(SMEs) ถือเป็นกลุ่มผู้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ และมีส่วนสำคัญขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ เห็นได้จากที่รัฐบาลพยายามส่งเสริม-สนับสนุนด้วยมาตรการต่างๆ เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หรือเพิ่มศักยภาพให้แข็งแกร่งกว่าที่ผ่านมา โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)หนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่มีส่วนอย่างมากในการสนับสนุน อีกทั้งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนช่องทางหนึ่งของเอสเอ็มอี “ฐานเศรษฐกิจ”มีโอกาสสัมภาษณ์นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินธปท. ถึงแนวทางในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี และแผนการดำเนินงาน มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้

ช่วยเร่งเข้าถึงแหล่งเงินทุน
นางฤชุกร เกริ่นนำว่ากลุ่มเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่มีการจ้างงานสูง หรือประมาณ 80%ของการจ้างงานทั้งระบบ เนื่องจากมีจำนวนมากถึง 2.78 ล้านรายหรือประมาณ 99% ของผู้ประกอบการทั้งหมด ดังนั้นเอสเอ็มอีจึงเป็นผู้ประกอบการกลุ่มใหญ่ และมีความสำคัญ โดยรัฐบาลก็ตระหนักดีถึงบทบาทของเอสเอ็มอีในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งจะเห็นได้จากความพยายามในการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมเอสเอ็มอีด้วยแนวทางที่หลากหลาย

ธปท. ในฐานะที่กำกับดูแลนโยบายทางด้านการเงินหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็คือการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง หรือทำอย่างไรที่จะมีฐานข้อมูลในหลากหลายมิติที่จะทำให้สถาบันการเงินสามารถบริหารความเสี่ยงได้ โดยประเด็นดังกล่าวนี้ ธปท. จึงได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นการขอความร่วมมือจาก ธพ. ในการจัดส่งข้อมูลเข้ามา และ ธปท.จะรวบรวมเพื่อส่งกลับไปให้ ธพ.ได้ใช้เป็นเกณฑ์ประกอบในการพิจารณาให้สินเชื่อกับเอสเอ็มอี

“ข้อมูลที่ได้มาสามารถทำเป็นข้อมูลได้ 1,200 กลุ่มธุรกิจที่ ธพ. สามารถนำไปใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของการกระจายตัวลูกหนี้ในแต่ละจังหวัด หรือหลักประกันในการขอสินเชื่อ และแยกออกเป็นรายอุตสาหกรรมเพื่อให้ ธพ. ได้มีฐานข้อมูลกลางโดยได้เริ่มทยอยส่งข้อมูลกลับไปให้ ธพ. เรียบร้อยแล้ว”

นอกจากนี้ จากการที่ได้รับมอบหมายให้กำกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือเอสเอฟไอ (SFI) ขณะนี้ได้ขอความร่วมมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถส่งข้อมูลกลับไปให้ทั้ง ธพ. และเอสเอฟไอได้ประมาณต้นปี 2561

ผ่อนเกณฑ์ VC
นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ดำเนินการออกประกาศรองรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันทางธุรกิจซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักประกันเป็นชิ้นเป็นอันสามารถนำหลักประกันอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจมาใช้ในการเข้าถึงบริการทางการเงินได้ เช่นอสังหาริมทรัพย์ เครื่องจักร และสินค้าคงคลัง เป็นต้น โดยจากข้อมูลล่าสุดได้มีเอสเอ็มอีเข้าไปจดทะเบียนตาม พ.ร.บ. หลักประกันธุรกิจแล้ว 1.18 แสนคำขอหรือมีมูลค้าหลักทรัพย์ประมาณ1.6 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธุ์ ซึ่งพบว่าเป็นบัญชีเงินฝากที่ใช้เป็นหลักประกันมากทีส่ ดุ57% รองลงมาเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่นวัตถุดิบ เครื่องจักร 21.6%

นางฤชุกร กล่าวต่ออีกว่าธปท. ยังได้สนับสนุนเอสเอ็มอีด้วยการผ่อนคลายเกณฑ์ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture capital: VC) เนื่องจากเอสเอ็มอีบางกลุ่มเช่น กลุ่ม Startup ยังไม่มีเงินทุนทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ ดังนั้น ช่องทางของVC จึงน่าจะสามารถเข้าตอบโจทย์ได้ จากเดิมที่ VC จะสามารถทำได้เพียงแค่เฉพาะกลุ่มของธุรกิจที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศ แต่เกณฑ์ใหม่จะขยายให้ครอบคลุมไปถึงเอสเอ็มอี, Startup และฟินเทค พร้อมทั้งขยายระยะเวลาใน VC ให้ยาวขึ้น จากเดิมที่อาจจะมีการกำหนดเวลาเอาไว้ช่วงหนึ่งและจะต้องถอนเงินทุนออก เนื่องจากเอสเอ็มอีอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ผลตอบแทนขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับประเภทธุรกิจและความสามารถในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้

 ดันพร้Œอมเพย์ตอบโจทย์
นางฤชุกร กล่าวอีกว่าเพื่อให้การดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีคล่องตัว และสะดวกมากขึ้น ธปท. ยังได้มีการพัฒนาระบบการชำระเงินออนไลน์ หรือพร้อมเพย์ (PromptPay) ซึ่งจะมีการคิดค่าธรรมเนียมในการใช้บริการด้วยอัตราที่ไม่สูงมาก โดยจะเป็นการตอบโจทย์การค้าขายบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพ และเอสเอ็มอีจะต้องมุ่งไป เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการทำธุรกิจ และขยายขอบเขตของธุรกิจไปสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายในวงกว้าง

“ในระยะต่อไปเอสเอ็มอีที่จะขายสินค้าพวกที่ผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ (E-Commerce) ก็จะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้จากช่องทางการชำระเงินด้วยรูปแบบพร้อมเพย์ที่ ธปท. พยายามผลักดัน โดยมีจุดเด่นที่การคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่ตํ่า และสะดวกสบาย เสมือนเป็นการเพิ่มช่องทางที่ทำให้เอสเอ็มอีขยายตัวหรือขายสินค้าได้ ซึ่งการดูแลเอสเอ็มอีในเรื่องของศักยภาพการแข่งขัน การตลาด เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยยกระดับเอสเอ็มอีไทย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,251วันที่ 9 - 12 เมษายน พ.ศ. 2560