สหรัฐฯ กับการค้าระหว่างประเทศ ภาพเริ่มชัด

12 เม.ย. 2560 | 08:00 น.
เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) ด้านนโยบายการค้าออกมา 2 ฉบับ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากทั่วโลกฉบับแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนในกรณีที่ผู้นำเข้ามีประวัติการไม่ชำระ หรือค้างชำระ อากรดังกล่าว และเพื่อดำเนินการกับสินค้านำเข้าที่ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังและทันการ คำสั่งฉบับที่ 2 สั่งการให้รัฐมนตรีพาณิชย์กับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ จัดทำรายงานเกี่ยวกับการขาดดุลทางการค้าที่มีนัยสำคัญ เพื่อระบุประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสินค้าอย่างมีนัยสำคัญในปี 2559 พร้อมประเมินสาเหตุของการขาดดุลทางการค้าผลกระทบต่อการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มาตรการของประเทศคู่ค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อสินค้าสหรัฐฯ เป็นต้น

บางท่านอาจสงสัยว่า คำสั่งฝ่ายบริหารคืออะไร ในระบบของสหรัฐฯ คำสั่งฝ่ายบริหาร หรือ เป็นการใช้อำนาจของประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อสั่งการหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จึงเป็นเรื่องการบริหารจัดการภายในของฝ่ายบริหาร แต่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ประธานาธิบดีใช้ในการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและกำหนดความเข้มข้นของการดำเนินการของฝ่ายบริหารในแต่ละเรื่องได้

คำสั่งฉบับแรกเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด อากรตอบโต้การอุดหนุน และการดำเนินการกับสินค้านำเข้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นการเพิ่มความจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายโดยฝ่ายบริหาร โดยเน้นการดำเนินการไปที่ผู้นำเข้าในสหรัฐฯ ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่มีอยู่แล้ว

คำสั่งฉบับที่ 2 แสดงถึงความสำคัญที่ประธานาธิบดีให้กับเรื่องการขาดดุลทางการค้าและดูจะเป็นที่สนใจในบ้านเรา จากข่าวที่ว่าไทยเป็น 1 ใน 16 ประเทศที่เป็นเป้าของคำสั่งนี้ด้วยเนื่องจากสหรัฐฯ เสียดุลการค้าสินค้าให้ไทยเป็นมูลค่าเกือบ 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2559 ติดโผสูงเป็นลำดับที่ 11 ซึ่งอันที่จริงพอได้ยินแล้วบางท่านอาจจะแอบภูมิใจนิด ๆ ที่ไทยค้าขายกับเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกแล้วได้ดุลการค้าสูงขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม การได้ดุลการค้าไม่ได้แปลว่าไทยเราได้เปรียบหรือประสบความสำเร็จนะครับ และที่สำคัญ ข้อมูลที่ว่าไทยเป็น 1 ใน 16 ประเทศที่เป็นเป้านี้ไม่ได้มาจากเนื้อหาของตัวคำสั่ง แต่มาจากการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคนหนึ่งในการจัดทำรายงานดังกล่าว ดังนั้นจึงยังไม่ควรด่วนสรุปอะไรและคงต้องรอดูรายงานที่จะออกมาในอีก 90 วันว่าจะมีไทยในนั้นหรือไม่ (ซึ่งคาดกันว่าคงจะอยู่) และแม้เมื่อรายงานออกมาแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ จะมีมาตรการต่อไปอย่างไร ก็ยังไม่มีใครทราบ เพียงแต่คาดกันว่ารายงานนี้น่าจะเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจของรัฐบาลต่อไป

สิ่งเดียวที่แน่นอนในทางกฎหมาย ก็คือสหรัฐฯ มีพันธกรณีที่องค์การการค้าโลก (WTO) ที่ต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อสินค้าหรือบริการของสมาชิก WTO อื่นๆ และการขาดดุลทางการค้าไม่สามารถใช้เป็นพื้นฐานที่ชอบธรรมในการเลือกปฏิบัติได้ ส่วนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือตอบโต้การอุดหนุน และการดำเนินการกับสินค้านำเข้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็จะต้องสอดคล้องกับข้อบทต่าง ๆ ของความตกลง WTO อย่างน้อยที่สุดผู้ส่งออกไทยก็มีหลักประกันนี้ ตราบใดที่สหรัฐฯ ยังเป็นสมาชิกองค์การนี้นะครับ

มีข้อสังเกตด้วยว่า ภาพรวมของการค้าการลงทุนไทย-สหรัฐฯ นั้นก็ดูจะสมดุลอยู่ เพราะแม้สหรัฐฯ จะขาดดุลการค้าสินค้ากับไทย แต่สหรัฐฯ ได้ดุลการค้าภาคบริการกับไทยในแต่ละปีเป็นมูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย (สลับกับญี่ปุ่นในบางปี) ซึ่งการลงทุนได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และนักลงทุนสหรัฐฯ สามารถส่งผลกำไรกลับประเทศตนได้อย่างสมเหตุผล

อีกประการหนึ่งที่แน่ ๆ คำสั่งทั้งสองได้สร้างแรงกระตุ้นให้ประเทศคู่ค้าอย่างไทยจริงจังกับข้อกังวลต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการค้ามากขึ้น อาทิ มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ เพราะตอนนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องดูจะรู้สึกตื่นตัวตาม ๆ กันครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,251วันที่ 9 - 12 เมษายน พ.ศ. 2560