ตลาดกากถั่วเหลืองฟัดเดือด ‘ผู้นำเข้า-โรงสกัด’แข่งดัมพ์ราคา-22รายอยู่ลำบาก

11 เม.ย. 2560 | 04:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สมรภูมิกากถั่วเหลือง ปี 60 เดือด หลังรัฐ-เอกชนฟันธงภาคปศุสัตว์ขยายการเลี้ยงเพิ่ม -ส่งออกฟื้น เอกชนเห็นโอกาสแห่นำเข้า ผวาของล้น อีกด้านถูกโรงสกัดขายดัมพ์ราคาแข่ง โอดส่อเจ๊ง ขณะกระทรวงพาณิชย์กดปุ่มดีเดย์ 4 รายส่งออกกากถั่วเหลืองปีแรกกว่า 2 แสนตัน

ในปี 2560 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทย ต่างคาดการณ์จะเป็นปีทองของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร รวมถึงกุ้ง ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีการเลี้ยงเพิ่ม สิ่งที่จะตามมาคือการใช้วัตถุดิบและอาหารสัตว์จะเพิ่มขึ้นตาม

นายกวีวุฒิ เนื่องจำนงค์ นายกสมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สถานการณ์การนำเข้ากากถั่วเหลืองเพื่อผลิตอาหารสัตว์ในปีนี้ จะขยายตัวตามอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ทำให้สมาชิกของสมาคม 22 บริษัท ต่างเล็งเห็นโอกาสและคาดจะมีการนำเข้ากากถั่วเหลืองเข้ามามากขึ้น และจะทำให้สถานการณ์ราคากากถั่วเหลืองในประเทศไม่ค่อยดีนักจากจะมีการขายตัดราคากันเอง ที่ห่วงคือหากวันใดวันหนึ่งเกิดมีโรคระบาดในสัตว์ หรือเกิดเหตุไม่คาดฝันจะทำให้ธุรกิจปศุสัตว์มีปัญหาชะลอการเลี้ยง ผู้นำเข้ากากถั่วเหลืองจะขาดทุนได้

ขณะที่อีกด้านหนึ่งที่เป็นปัญหามานานระหว่างผู้นำเข้ากากถั่วเหลือง กับโรงงานสกัดน้ำมันถั่วเหลืองที่นำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองจากต่างประเทศ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเป็น 0% มาตั้งแต่ปี 2553 ส่งผลให้มีการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี ซึ่งทางโรงสกัดได้ใช้ความได้เปรียบเรื่องภาษีนำถั่วเหลืองเข้ามาสกัดเป็นน้ำมันถั่วเหลืองขายแล้ว ยังเหลือกากถั่วเหลืองขายในราคาต่ำให้กับโรงงานอาหารสัตว์เฉลี่ยที่ 12-13 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ผู้นำเข้ากากถั่วเหลืองต้องขายในราคาไม่ต่ำกว่า 15-16 บาทต่อกิโลกรัม

"ก่อนหน้านี้ทางสมาคมได้ทำหนังสือถึงทุกรัฐบาลเพื่อขอความเห็นใจไม่ให้โรงสกัดดำเนินการในลักษณะดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ซึ่งรู้สึกผิดหวัง"

นายกวีวุฒิ กล่าวอีกว่า เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว ที่ผ่านมาสมาชิกสมาคมนอกจากนำเข้ากากถั่วเหลืองแล้ว ยังนำเข้าสินค้าเกษตรอื่นๆ รวมถึงข้าวสาลีเข้ามาจำหน่าย แต่ล่าสุดทางกระทรวงพาณิชย์ก็มีการจัดระเบียบการนำเข้าข้าวสาลีใหม่ โดยผู้ที่นำเข้าได้ต้องเป็นเจ้าของกิจการผลิตอาหารสัตว์เท่านั้น กรณีนี้มีผลให้บริษัทต่างๆ ที่เคยนำเข้าข้าวสาลีเข้ามาจำหน่ายถูกตัดสิทธิ์โดยอัตโนมัติ หากเป็นเช่นนี้ในอนาคตหลายบริษัทอาจต้องทยอยปิดกิจการลงในที่สุด

รายงานการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ในสหรัฐอเมริกา CBOT (The Chicago Board of Trade) ณ วันที่ 3 เมษายน 2560 ระบุว่า ราคาถั่วเหลืองร่วงลงต่ำสุดในรอบเกือบ 1 ปี และกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเปิดเผยว่า จะให้เกษตรกรชาวสหรัฐลดการปลูกข้าวโพดและข้าวสาลีลง และหันมาขยายพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองแทนในฤดูกาลนี้

ขณะแหล่งข่าวจากกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยผลการจัดสรรปริมาณการส่งออกกากถั่วเหลืองที่จะอนุญาตให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก โดยในปีนี้มีผู้ได้รับอนุญาต 4 ราย ได้แก่ บริษัทน้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1.62 แสนตัน บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด (บจก.) 4.45 หมื่นตัน บจก. พี.เอ.เอส.พืชผลส่งออกและไซโล 1.4 หมื่นตัน และบจก. อุตสาหกรรมวิวัฒน์ 1,049.50 ตัน รวมทั้งสิ้น 2.22 แสนตัน โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตจะต้องดำเนินการส่งออกให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,251วันที่ 9 - 12 เมษายน พ.ศ. 2560