"ซีนุก-คูเวตออยล์" โดดร่วมวงปิโตรฯ

06 เม.ย. 2560 | 07:13 น.
วันที่ 6 เม.ย.60-หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ สื่อในเครือสปริง กรุ๊ป ฉบับที่ 3250 ระหว่างวันที่ 6-8 เม.ย.2560 รายงานว่า ยักษ์ใหญ่นํ้ามันข้ามชาติ ตบเท้าชิงประมูลปิโตรเลียมหมดอายุ มีทั้งซีนุก คูเวตออยล์และบูบาดาลา ท้ารบกับเชฟรอนและปตท.สผ.กรมเชื้อเพลิงชี้้การผลิตก๊าซปี 64 หายไป 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ภายหลังพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (กช.) ได้ออกมายืนยันว่า การเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 จะออกทีโออาร์อย่างช้าสุดไม่เกินเดือนกรกฎาคมปีนี้ เพื่อให้ได้ผู้ชนะการประมูลภายในเดือนธ.ค.2560
ส่งผลให้ขณะนี้มีผู้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่หมดอายุไม่ตํ่ากว่า 5 รายแล้วในขณะนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทนํ้ามันรายใหญ่ข้ามชาติ ไม่ว่าจากจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต และอินเดีย เป็นต้น เพื่อจะชิงการประมูลกับผู้ประกอบการรายเดิมอย่างบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ.และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยได้รับการยืนยันจากบริษัทนํ้ามันข้ามชาตินี้ ต่างได้เข้ามาขอความชัดเจนในการเปิดประมูลแล้ว

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(กช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเปิดประมูลทั้ง 2 แหล่ง ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการจำนวนหลายราย เบื้องต้นมี 5 ราย ที่ติดต่อมาแล้ว เป็นผู้ประกอบการรายเดิม ได้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ. ผู้ดำเนินการแหล่งบงกช และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณ ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่ก็มี บริษัท ซีนุกฯ บริษัทนํ้ามันใหญ่ที่สุดของจีน บริษัท คูเวตปิโตรเลียมฯ ยักษ์ใหญ่นํ้ามันของคูเวต รวมถึงบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียมฯ ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และที่กำลังจะมาเป็นบริษัท Hindu Petroleum Corporation (HPCL) บริษัท นํ้ามันแห่งชาติของอินเดีย ที่กำลังรุกการลงทุนอยู่ในทั่วโลกเวลานี้
ทั้งนี้ หากมีผู้สนใจเข้าประมูลจำนวนหลายราย ข้อดีจะทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น แต่ก็มีข้อเสียกรณีที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ชนะการประมูล จะทำให้การผลิตก๊าซจากทั้ง 2 แหล่งนี้ที่ผลิตอยู่ 2.160 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไม่มีความต่อเนื่อง เพราะการลงทุนทำการสำรวจและขุดเจาะผลิตจะต้องใช้เวลาอย่างตํ่า 5 ปี หรือภายในปี 2570 ถึงจะสามารถทำการผลิตปิโตรเลียมกลับมาได้ จะทำให้ก๊าซจากทั้ง 2 แหล่งนี้หายไป
นอกจากนี้ หากเป็นผู้ประกอบการรายเดิมชนะการประมูล ก็ยังมีข้อกังวลว่า การรักษาปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชและเอราวัณ จะไม่สามารถกลับขึ้นมาอยู่ในระดับ 2,160 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ในช่วงแรก เท่าที่ประเมินเบื้องต้นจะผลิตได้เพียง 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น เนื่องจากศักยภาพของแหล่งปริมาณปิโตรเลียมเริ่มลดลง
อีกทั้ง เป็นผลต่อเนื่องจาก ทางปตท.สผ.ได้ยืนยันให้กช.ทราบแล้วว่า จะลงทุนรักษาระดับการผลิตที่ 880 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไปจนถึงปี 2563 เท่านั้น และหลังจากนั้นจะลดกำลังการผลิตลง เนื่องจากการลงทุนขุดเจาะหลุมใหม่ๆ ไม่คุ้มต่อผลตอบแทนที่ได้รับ ขณะที่ บริษัท เชฟรอนฯ ได้แจ้งมาแล้วว่าในปีนี้จะลดปริมาณการผลิตลง 2-3% จากที่ผลิตอยู่ 1,280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะลดกำลังการผลิตในปีหน้าอีกหรือไม่ ทางเชฟรอน ขอรอดูผลการประมูลในปีนี้ก่อน
นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการลดกำลงการผลิตก๊าซของปตท.สผ.จะส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2564 ปริมาณก๊าซหายไปประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้น จะต้องติดตามสถานการณ์ประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุนี้ออกมาในรูปแบบใด เพื่อเร่งให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำไปสู่การตัดสินใจก่อสร้างคลังแอลเอ็นจีอีก 7.5 ล้านตัน ภายในสิ้นปีนี้ด้วย