ย้อนตำนาน ชุมชนศิลปิน มุมแห่งชีวิตและสีสันย่านนางเลิ้ง

09 เม.ย. 2560 | 04:00 น.
ราว 70 ปีก่อน ชายหนุ่มคนหนึ่งแบกกล้วยเป็นเครือๆ เดินส่งตามร้านรวงต่างๆ ในซอยนางเลิ้ง ด้วยรูปโฉมที่สง่างาม หน้าตาที่หล่อเหลา ไม่นานชายผู้นี้ได้เข้าสู่วงการบันเทิงและสร้างตำนานพระเอกตลอดกาล “มิตร ชัยบัญชา”

ณ ที่เดียวกันที่ชายผู้ที่ได้ใช้ชีวิตและเติบโตจนรุ่งโรจน์ในยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ไทย ที่นี่คือหนึ่งในศูนย์รวมศิลปินแห่งยุคสมัยที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความเจริญและเสียงรถราที่วิ่งอยู่รายรอบ กระจกที่ปิดกั้นจากความร้อนและมลพิษภายนอกไม่ต่างอะไรกับเครื่องขีดขวางเสียงดนตรีที่บรรเลงอย่างเศร้าสร้อยก่อนที่จะจางหายไปพร้อมกับลมหายใจของผู้ครอบครองศาสตร์และศิลป์ซึ่งกำลังลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย

M32-3251-2 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ราวปี พ.ศ. 2460 หรือ 100 ปีก่อน มีการขยายความเจริญจากเขตวังหลวงสู่พื้นที่นอกพระนครด้านตะวันออกซึ่งเป็น “ทุ่งส้มป่อย” ทุ่งนาระหว่างพระราชวังดุสิตกับวังพญาไท ด้วยการสร้างพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อทรงใช้เป็นที่รโหฐานสำหรับทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ รวมทั้งราชเสวก (ข้าราชการฝ่ายราชสำนัก) จะได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์ ส่งผลให้ย่านนางเลิ้งก้าวสู่การเป็นย่านกลางกรุงที่มีตลาดบกซึ่งเต็มไปด้วยพืชผักผลไม้และของอร่อยไปโดยปริยาย

M32-3251-4 แม้ความเจริญได้แผ่ขยายมายังชุมชนนี้อย่างช้าๆ ตามการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย แต่ชื่อเสียงในฐานะ “ย่านของศิลปะการแสดง” ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะบริเวณ “ตรอกละคร” ซึ่งอยู่ติดกับถนนหลานหลวงในปัจจุบัน คือตรอกที่เต็มไปด้วยสีสันของ โขน ละคร หนังตะลุง ลิเก ดนตรีปีพาทย์ และหนึ่งแรงดึงดูดสำคัญที่พาพวกเรามาที่นี่ในวันนี้คือ “ละครชาตรี”

M32-3251-5 ซอยเล็กๆ ริมถนนขนาดคนเดินสวนกัน ดูแล้วไม่แตกต่างจากซอยอื่นๆ เท่าใดนัก แต่สิ่งที่เรียกร้องให้สายตาของเราต้องสะดุดและเปิดหูรับฟังเสียงอื่นนอกจากเสียงของลมวิ่งผ่านคือ ปลาตะเพียงสายตัวน้อยใหญ่ที่ว่ายปลิวไปตามกระแสลม พร้อมๆ กับเสียงปี่ กรับ และโทน ที่หลอมรวมกับเนื้อร้องเกิดเป็นจังหวะจนทำให้หัวใจเราต้องเต้นตาม

M32-3251-3 ความตั้งใจของพี่แดง เจ้าของฉายา พี่แดงนางเลิ้ง 100% ที่ต้องการรื้อฟื้นศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นรากฐานทางประวัติศาสตร์และความทรงจำของย่านนางเลิ้งให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยการนำการท่องเที่ยวชุมชนเป็นตัวเชื่อมความเจริญกับความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรม ด้วยการปลุกกระแส รวบรวมเหล่าครูที่มีชื่อเสียงแต่เก่าก่อนกลับมายังชุมชุม เปิดมิติการท่องเที่ยวใหม่จนเป็นที่กล่าวถึงของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เปิดแผนที่ตามหาตรอกนี้ไม่ต่างจากตรอกไดเอกอนในนวนิยายชื่อดังก้องโลก “แฮรี่ พอร์ตเตอร์”

M32-3251-6 ครูกัญญา ซึ่งมีอายุก้าวผ่าน 20,000 วันมานานนับสิบปี ยังคงร้องรำละครชาตรีด้วยท่วงท่าที่สง่างาม สืบทอดตำนานจากผู้เป็นมารดา คุณยายแพน เรืองนนท์ นางเอกละครชาตรีที่สวยที่สุดในยุคนั้น จนเกิดเหตุการณ์รักต่างชนชั้น ข้ามพรมแดนของหญิงสามัญชนชาวสยามกับพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา “พระบาทสีสวัสดิ์ มณีวงศ์” ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรสยามในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองคุณยายแพนได้ถูกส่งกลับประเทศเพื่อความปลอดภัย และนี่คือหนึ่งในการสร้างรากฐานละครชาตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดให้คงอยู่ต่อมาอีกหลายสิบปีจนถึงรุ่นลูก “ละครชาตรีคณะกัญญาลูกแม่แพน” และ “คณะครูทองใบเรืองนนท์ ของคุณบัวสาย เรืองนนท์”

M32-3251-8 ถัดจากลานแสดงละครชาตรีไม้ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์และเรื่องราวไปไม่ไกล อีกหนึ่งสถานที่ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในฐานะ “บ้านสามัคคีลีลาศ” หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า “บ้านเต้นรำ” ลานโถงกว้างของชั้นล่างในอาคารไม้ผสมปูนที่ตกแต่งแบบร่วมสมัย ผ่านการนำตัวแทนของอดีตอย่างแผ่นเสียง เทปคาสเซ็ท มาประดับในมุมต่างๆ แสงแดดจากธรรมชาติ ส่องทะลุแนวกระจกซึ่งประกอบขึ้นจากเทปคาสเซ็ทนับร้อนแผ่น พัดลมที่มุนกระจายอากาศส่งเสียงครางเบาๆ เคล้าไปกับจังหวะเพลงรุมบ้าและการสอนอย่างเป็นกันเองของคุณลุงกิจจา ตามรสุวรรณ ผู้นำทักษะการเต้นลีลาศมาสู่ชุมชน วันนี้ที่นี่ไม่ได้เป็นแค่บ้านเต้นรำ แต่ยังเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะที่ดึงเอาผู้คนให้หลั่งใหลมาในชุมชนศิลปะที่ยังคงมีชีวิตนี้อย่างต่อเนื่อง

M32-3251-7 เมื่อใดที่ผ่านถนนหลานหลวง ลองแง้มกระจกและตั้งใจฟัง คุณอาจกำลังได้ยินเสียงดนตรีเบาๆ ที่จะพาคุณหวนกลับไปยังอดีต เมื่อครั้งที่เรายังสนุกกับการออกมาพบปะพูดคุย ชมการแสดง มากกว่าเปิดโปรแกรมบนหน้าจอแล้วนั่งชมอยู่คนเดียว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,251 วันที่ 9 - 12 เมษายน พ.ศ. 2560