พลิกโฉมประเทศ ‘ประยุทธ์’ จัดหนัก! ดันอีอีซีขึ้นศูนย์การบิน-ไฮเทค-แบตเตอรี่โลก

05 เม.ย. 2560 | 12:28 น.
วันที่ 5 เม.ย.60-หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ สื่อในเครือสปริง กรุ๊ป   ฉบับที่  3250 ระหว่างวันที่ 6-8 เม.ย.2560  รายงานว่า นายกรัฐมนตรีตัดริบบิ้นคิกออฟอีอีซี เผยยุทธศาสตร์ยกระดับภาคตะวันออกศูนย์กลางของโลก ดึงต่างชาติลงทุน-ผลิตส่งออกสินค้าไฮเทค 10 บิ๊กเรือธงมาครบ เฉพาะแบตฯแห่ลงทุน 1 แสนล้าน เป็นฐานผลิตป้อนตลาดโลก จับตาสิทธิประโยชน์ชุดใหญ่
นับตั้งแต่ยุคพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ค้นพบก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทยครั้งแรกในปี 2524 “โชติช่วงชัชวาล” กลายเป็นวลีดัง การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจบรรจบครบ 36 ปี วันนี้ จะไม่ใช่แค่ฐานการผลิตต้นนํ้า อุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ แต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์หวังยกระดับไทยให้เป็นศูนย์กลางภูมิภาคเชื่อมกับทั่วโลก
ในวันที่ 5 เม.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะต้อนรับและหารือกับนักธุรกิจข้ามชาติรายใหญ่กว่า 20 ราย ก่อนจะเข้าประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในฐานะประธาน โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางอรรชกา ศรีบุญเรือง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ส่วนราชการและเอกชนในพื้นที่เข้าร่วม
นักลงทุนที่จะเข้าหารือกับนายกฯและคณะ ประกอบด้วย ผู้บริหารจากโตโยต้า บีเอ็ม ดับเบิลยู เบนซ์ ดูคาติ บริดจสโตน ผู้บริหารไมโครซอฟท์และกูเกิล ตัวแทนอาลีบาบาและลาซาด้า ผู้บริหารจากอีโวนิค ปิโตรเคมีชั้นนำของเยอรมนี แอร์โร สเปซ เชฟรอน หัวเว่ยเจโทรและหอการค้าสหรัฐฯ
นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง 3 ฉบับ ระหว่างกองทัพเรือ ผู้บริหารสนามบินอู่ตะเภา และหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม
ในการประชุมคณะกรรมการอีอีซีจะพิจารณาการลงทุนโครง สร้างพื้นฐานและแผนการใช้พื้นที่ โดยเฉพาะใน  2 โครงการหลัก คือ 1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 2.การพัฒนารถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยองที่จะขยายเชื่อมต่อระหว่าง 3 สนามบินหลักของประเทศ ได้แก่ อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ และดอนเมือง มูลค่าลงทุน 1.58 แสนล้านบาท รวม 2 โครงการ 3.58 แสนล้านบาท ยังมีการติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการรถไฟทางคู่และพัฒนาเมืองใหม่ ที่จะรองรับการเติบโตเขตพื้นที่ จ.ชลบุรี
สำหรับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภานั้นจะมีการผลักดันให้เป็นทั้งท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ และเป็นนิคมอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงขยายการรองรับการเติบโตของการขนส่งทุกรูปแบบ ด้วยการขยายตัวของสนามบินอู่ตะเภาโดยได้กันพื้นที่ไว้ร่วม 2,000 ไร่ รองรับการขยายการลงทุนของสนามบิน ทั้งของภาครัฐทั้งกองทัพเรือ กระทรวงคมนาคมและภาคเอกชน เช่น บริษัท การบินไทยฯ งบลงทุน 20,000 ล้านบาท   มีการขยายอาคารผู้โดยสารรองรับได้จาก 8 แสนคน/ปี เป็น 3 ล้านคน/ปี และจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ในระยะที่ 2 และ 3 เพื่อรองรับผู้ใช้งานสูงสุดในอนาคต  60 ล้านคน/ปี
นอกจากนี้ จะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งบริษัท การบินไทยฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนพัฒนาศูนย์ซ่อมเครื่องบินที่อู่ตะเภา ใช้งบลงทุนหลักหมื่นล้านบาท โดยมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบินในภูมิภาคเอเชีย ระยะแรกจะมีการก่อสร้างโรงซ่อมและโรงจอดเครื่องบินขนาดใหญ่ สามารถนำเครื่องบินพาณิชย์ใหญ่ที่สุดในโลก Airbus A380 จอดพร้อมกัน 2 ลำในโรงจอด และเจาะตลาดเครื่องบินรุ่นใหม่ เช่น Boeing 787 และ Airbus A350 เบื้องต้นลงทุนราว 5,000 ล้านบาท รวมทั้งขยายถนนเข้าสนามบิน การก่อสร้างมอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุดเพิ่มเติม และรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอ
แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กำลังจะมีการเซ็นสัญญากับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมผลักดันโครงการลงทุนแบตเตอรี่ เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ ที่จะเป็นอุตสาห กรรม New S Curve ของประเทศ เพื่อจัดสรรพื้นที่มารองรับการลงทุนแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า การลงทุนแบตเตอรี่ที่ใช้ในบ้าน โรงงานอุตสาหกรรมประเภทโซลาร์ซิตี พาวเวอร์ วอลล์ ขนาด 1 เมกะวัตต์ ในธุรกิจสายส่งไฟฟ้า

“มีนักลงทุนไทย และต่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านพลังงานหลายรายให้ความสนใจเป็นพิเศษ เบื้องต้นมีการลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท”

บริษัทที่จะร่วมลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค แบตเตอรี่ ซึ่งจะมีการร่วมทุนระหว่างไทย-ไต้หวัน-จีน นั้น ปัจจุบันมีนักลงทุนให้ความสนใจจะร่วมลงทุนร่วม 15-20 ราย มูลค่าการค้าเบื้องต้น 5.2 หมื่นล้านบาท โดยจะผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน หรือนิกเกิลเมทัลไฮไดร เพื่อใช้ภายในประเทศและส่งออก
รัฐบาลหวังจะพลิกโฉมประเทศไทยให้ก้าวพ้นจากรายได้ปานกลางไปสู่รายได้ที่สูงขึ้น ลดการพึ่งพาแรงงานไร้ฝีมือ ยกระดับพื้นที่อีอีซีให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของเอเชีย จึงโฟกัสส่งเสริม 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ไฮเทค ดังนี้ กลุ่ม First S-curv  1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2. อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.การแปรรูปอาหารและการพัฒนากลุ่ม New S-curve ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 2.การบินและโลจิสติกส์ 3.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4.ดิจิตอล 5.การแพทย์ครบวงจร
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 4/2560 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ เป็นการเตรียมมาตรการส่งเสริมก่อนที่ร่างพระราชบัญญัติพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจะมีผลบังคับใช้
“โครงการลงทุนที่ต้องการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัด สามารถยื่นขอรับส่งเสริมจากบีโอไอได้แล้วตั้งแต่บัดนี้ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ คือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี นับจากสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง ทั้งนี้ขอให้ยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปีนี้” นางหิรัญญากล่าว
ภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดนั้น บีโอไอได้กำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ให้การส่งเสริมการลงทุน ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงกิจการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ กิจการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและโลจิสติกส์ กิจการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจการวิจัยและพัฒนา และบริการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี โดยมีประเภทกิจการย่อยที่เข้าข่ายได้รับส่งเสริมมากถึง 202 กิจการ