อานิสงค์พายุฤดูร้อนฝนตกชุกช่วยคลายปัญหาภัยแล้ง

05 เม.ย. 2560 | 10:44 น.
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 59 ถึงปัจจุบัน ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 15,819 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 90 ของแผนจัดสรรน้ำฯ ที่วางไว้ (แผนที่วางไว้ 17,661 ล้านลูกบาศก์เมตร) และจากการเกิดพายุฤดูร้อน มีฝนตกทั่วประเทศ ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อน 2 ช่วง คือช่วงที่ 1 วันที่ 6 – 19 มี.ค.60 น้ำไหลเข้าเขื่อน 158 ล้านลูกบาศก์เมตร และช่วงที่ 2 วันที่ 30 มี.ค. – 3 เม.ย.60 น้ำไหลเข้าเขื่อนประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสิ้น 262 ล้านลูกบาศก์เมตร สาเหตุที่น้ำไหลเข้าเขื่อนน้อย เนื่องจากเป็นช่วงฤดูแล้งฝนจึงซึมลงดิน อย่างไรก็ตามฝนที่ตกส่งผลดีต่อเกษตรกรบริเวณพื้นที่นอกเขตชลประทานและในเขตชลประทานทำให้เกิดความชุ่มชื้น ลดความแห้งแล้งลงได้ สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่า ณ วันที่ 29 มี.ค. 60 มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.35 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ 2.68 ล้านไร่ (แผนที่วางไว้ 2.67 ล้านไร่) ปัจจุบันเก็บเกี่ยวไปแล้ว 2.05 ล้านไร่ คงเหลือรอเก็บเกี่ยว 3.30 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวอายุตั้งแต่ 11  -18 สัปดาห์ ไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ รวม 2.23 ล้านไร่  ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวที่มีอายุ 1 – 10 สัปดาห์ เป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง รวม 1.07 ล้านไร่ อย่างไรก็ตามในช่วงพายุฤดูร้อนที่ผ่านมาทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกค่อนข้างชุก สถานการณ์น้ำของเกษตรกรหรือนาข้าวที่มีอายุต่ำกว่า 10 สัปดาห์จึงดีขึ้น มีน้ำสำหรับให้ต้นข้าว เป็นผลให้พื้นที่เฝ้าระวังดังกล่าวเสียหายลดน้อยลง

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งระยะเวลาการปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำให้เร็วขึ้น เพื่อลดผลกระทบในช่วงฤดูน้ำหลาก จึงเลื่อนระยะเวลาการปลูกข้าวพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำจำนวน 265,000 ไร่ในพื้นที่บางส่วนของ จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก ให้เริ่มปลูกข้าวนาปีตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 60 ปัจจุบันกรมชลประทานได้ส่งน้ำเข้าพื้นที่ดังกล่าวแล้ว และมีการปลูกไปแล้วประมาณ 80,000 ไร่ โดยจะเร่งรัดปลูกให้ครบ 265,000 ไร่ ภายในวันที่ 15 เม.ย. 60 และปลูกให้แล้วเสร็จเพื่อเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 1 ส.ค. 60 อีกทั้ง ประโยชน์หลังเก็บเกี่ยว เมื่อเก็บน้ำเข้าไปเกษตรกรสามารถทำการประมงได้ สร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำบางระกำ