ทางออกนอกตำรา : ทำเลทอง “พระราม4” ในอุ้งมือ “นายกองเอกเจริญ”

05 เม.ย. 2560 | 07:40 น.
ทางออกนอกตำรา

โดยบากบั่น บุญเลิศ

ทำเลทอง “พระราม4” ในอุ้งมือ “นายกองเอกเจริญ”

ต้องบอกว่า ในระยะอีก 5 ปีข้างหน้า พื้นที่บริเวณถนนพระราม 4 จะเจริญเทียบเท่าหรือเจริญมากกว่าย่านถนนพระราม 1 ถึงเพลินจิต ที่ตระกูล จารุวัสตร์-จูตระกูล-จิราธิวัฒน์-ศรีวิกรม์ ครอบครองอยู่อย่างแน่นอน

เมื่อ "เจ้าสัวน้ำเมา"นายกองเอกเจริญ สิริวัฒนภักดี   พร้อมครอบครัวยกลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนสุดท้อง "ปณต สิริวัฒนภักดี" ประกาศเปิดตัวอภิมหาโครงการยักษ์ 'One Bangkok' มูลค่าการลงทุนมากกว่า 120,000 ล้านบาท พื้นที่อาคารรวม 1,830,000 ตารางเมตร  เปิดให้บริการส่วนแรกในปี 2564 และแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการภายในปี 2568

พื้นที่ของโครงการตั้งอยู่บนที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารเดิม โดยเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วย อาคารสำนักงานเกรดเอมาตรฐาน 5 อาคาร, โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว 5 โรงแรม, ที่พักอาศัยระดับ ซุปเปอร์ไฮเอนด์ 3 อาคาร รวมถึงจะมีร้านค้าปลีก และพื้นที่ทำกิจกรรม รวมถึงพื้นที่ทำกิจกรรมและศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ 10,000 ตร.ม. มีพื้นที่สีเขียว 50 ไร่จากพื้นที่ทั้งหมด 104 ไร่

โครงการนี้จะเชื่อมต่อโดยตรงกับระบบขนส่งมวลชน และจะเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย

โดยก่อนหน้านี้ โครงการไอคอนสยาม ย่านเจริญนคร ทำสถิติอภิมหาโปรเจ็กต์การลงทุนสูงสุดด้วยมูลค่า 5.5 หมื่นล้านบาท บนพื้นที่ 50 ไร่ มีพื้นที่ขายกว่า 7.5 แสนตารางเมตร

แต่ถึงตอนนี้ โครงการ ONE BANGKOK แซงหน้าไปในการลงทุนถึง 1.2 แสนล้านบาท และจะกลายเป็นแลนด์มาร์คระดับโลกแห่งใหม่ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2560  และเมื่อโครงการแล้วเสร็จคาดว่าจะมีผู้คนมากกว่า 6 หมื่นคนเข้ามาทำงานและพักอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้

นั่นเท่ากับว่า "นายกองเอกเจริญ สิริวัฒนภักดี "จะมีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตลอดแนวถนนพระราม 4 ถึง 4 โครงการ
เพราะก่อนหน้านี้ นายกองเอกเจริญได้ขึ้นโครงการสามย่าน มิตรทาวน์ (ที่ดินตลาดสามย่านเดิม 13 ไร่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ มีสัญญาเช่า 30 ปี) บริเวณหัวมุมถนนพระราม 4-พญาไท (สี่แยกสามย่าน)  ที่จะสร้างเป็นอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม เซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ พื้นที่ค้าปลีก มูลค่าลงทุน 8,500 ล้านบาท เปิดตัวโครงการไปเมื่อ พ.ค. 2559 คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2562
นอกจากนี้ ยังมีที่ดิน 8 ไร่ บริเวณแยกพระราม 4 บริเวณซอยไผ่สิงโต ฝั่งตรงข้ามที่ดิน 35 ไร่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ สัญญาเช่า 30 ปีที่ บมจ.แผนดินทองฯ ถือหุ้นใหญ่ในการพัฒนาที่ดิน lihk อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ โครงการมิกซ์ยูส ประกอบด้วย อาคารสำนักงานให้เช่า โรงแรมมูลค่าลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งเปิดให้จองพื้นที่เช่าไปแล้ว

ผนวกกับมติครม.เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ยังไฟเขียวให้แก้ไขสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ให้กับบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ ธุรกิจของนายเจริญ โดยแก้ไขสัญญาเช่าพื้นที่จาก 25 ปี เป็น 50 ปี กำหนดให้ปรับปรุงการก่อสร้างอาคารศูนย์ประชุมเดิมให้มีพื้นที่มากขึ้น เพิ่มพื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์และที่จอดรถ รวมไม่น้อยกว่า 1.8 แสนตารางเมตร มูลค่าลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท แทนการก่อสร้างโรงแรม 4-5 ดาว รวม 400 ห้อง ตามสัญญาเดิม เนื่องจากติดปัญหาข้อกฎหมาย

เท่ากับว่า มูลค่าเงินลงทุนรวม ตลอดถนนพระราม 4 และพื้นที่ใกล้เคียง ที่นายกองเอกเจริญปักหมุดไว้ จะมีกว่า 145 ไร่ งบลงทุนกว่า 1.4 แสนล้านบาท เพื่อสร้างอาณาจักรธุรกิจในย่านพระราม4 ให้เป็นย่านธุรกิจใหม่ (New Central Business District -CBD) ของกรุงเทพฯ ถึงขนาดมีการประเมินว่า ราคาที่ดินทั้ง 2 ฟากฝั่งในบริเวณนั้นจะทะยานขึ้นแทบจะ 100% ในเวลาอีกไม่ถึง 2 ปีข้างหน้านี้แน่นอน

ไม่นับรวมโครงการร่วมทุนของกลุ่ม “ดุสิตธานี-เซ็นทรัล”ที่ทุบทิ้งโรงแรมดุสิตธานี  ผุดโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (มิกซ์ยูส) ประกอบด้วย โรงแรม, ศูนย์การค้า, เรสซิเดนซ์ และอาคารสำนักงาน มูลค่ารวม 3.67 หมื่นล้านบาท   โดยได้ต่อสัญญากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เช่าที่ดินบริเวณหัวมุมถนนสีลมและพระราม 4 ต่อไปอีก 30 ปี+30 ปี ขนาดพื้นที่รวมกว่า 23 ไร่ 2 งานเศษ  เป็นที่ดินแปลงเดิมของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ 19 ไร่ และได้เจรจาเช่าที่ดินด้านข้างเพิ่มจากสำนักงานทรัพย์สินฯอีกกว่า 4 ไร่ ตั้งแต่ตึกโอลิมเปีย ตึกไทยประกันชีวิตเก่า ตึกแถวอีก 9 ห้อง จนมาถึงโรงเรียนสอนทำอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ

การเนรมิตพื้นที่บริเวณถนนพระราม 4 ขึ้นเป็นทำเลทองของเมืองไทย จึงเริ่มตั้งแต่ "สี่แยกสามย่าน-สีลม ไปจรดตลาดคลองเตย"
การกระโดดเข้ามาลงทุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของนายกองเอกเจริญ สิริวัฒนภักดี มีชื่อเดิมว่า เคียกเม้ง แซ่โซว, เจริญ ศรีสมบูรณานนท์ นักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีน ผู้เป็นประธานกรรมการบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิลด์ จำกัด ประธานกรรมการบริษัท บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของบริษัทเบียร์ช้างและบริษัทในเครือ เจ้าของกิจการ โรงแรม พลาซ่า แอททินี่ ในกรุงเทพมหานคร และในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งนิตยสารฟอร์บ จัดอันดับให้เป็น มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย เมื่อปี 2559  ด้วยทรัพย์สินรวมทั้งหมด 10,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   ย่อมไม่ธรรมดา  ขณะที่เศรษฐีอันดับ 2 นายธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าของธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็กำลังเข้าครอบครองพื้นที่บริเวณสถานฑูตออสเตรเลีย

ยิ่งการที่นายกองเอกเจริญ สิริวัฒนภักดี กับ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ออกโรงสนับสนนุบุตรชายคนสุดท้องน้องสุดท้ายด้วยตัวเอง ย่อมเป็นเครื่องการันตีได้ว่า "ปณต" บุตรคนที่ 5( ไล่จากอาทินันท์ พีชานนท์ , วัลลภา ไตรโสรัตน์, ฐาปน สิริวัฒนภักดี ,ฐาปนี  สิริวัฒนภักดี )จะเข้ามาสร้างอาณาจักรธุรกิจในพื้นที่นี้ให้เติบโตอย่างเต็มร้อย

นายกองเอกเจริญ ผู้สร้างตำนานแห่งชีวิตจากการรับจ้างเข็นรถส่งสินค้า ย่านสำเพ็ง ทรงวาด ก่อนเป็น ”ซัพพลายเออร์” ให้โรงงานสุราบางยี่ขันและเข้าซื้อกิจการแสงโสม ก่อนกลายเป็น”เจ้าสัว” และเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555 ได้รับพระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดน เป็นนายกองเอก ที่มีปรัชญาการดำเนินธุรกิจที่เป็นเลื่องลือของเจ้าสัว ”เจริญ” คือ การซุ่มซ่อนยาวนาน สะสมทุน รอคอยโอกาส ที่สำคัญ “คุณธรรมน้ำมิตร” บนหลักการ ”บุญคุณต้องทดแทน” ทำให้เส้นทางการเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ ”เจ้าสัวเจริญ-และทายาทคนสุดท้องน้องสุดท้าย ปณต” ยากที่ใครมาทัดเทียมแน่นอน….

คอลัมน์ :ทางออกนอกตำรา / หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3250 ระหว่าง 6-8 เม.ย.2560