ธอส.ผวารีไฟแนนซ์ หนีดอกเบี้ยขาขึ้น

06 เม.ย. 2560 | 07:00 น.
ธอส.ผวาลูกค้าแห่รีไฟแนนซ์ หนีดอกเบี้ยขาขึ้น ชี้ไตรมาสแรกยอดปล่อยกู้ไม่หวือหวาตํ่ากว่าเป้า 10% ลุ้นไตรมาส 2 ฟื้น เดินหน้าขยาย-ยุบรวมสาขารักษาต้นทุนสู้คู่แข่ง หาช่องออกโปรดักต์ใหม่ลดเสี่ยงเกิดหนี้เสียในอนาคต

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทิศทางดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นในขณะนี้ ทำให้ธนาคารต้องให้ความระมัดระวังกรณีที่ลูกค้าของธนาคารจะรีไฟแนนซ์หนี้เดิมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่ผ่อนชำระมาครบ 3 ปีขึ้นไป

“แม้ปัจจุบันยอดยอดอนุมัติและรีไฟแนนซ์ของธนาคารจะอยู่ในภาวะปกติแต่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดจะปรับตัวขึ้น น่าจะต้องมีผลต่อการตัดสินใจรีไฟแนนซ์ โดยเฉพาะบ้านที่ผ่อนไปแล้ว 3ปีขึ้นไปถือเป็นกลุ่มที่ตัดสินใจรีไฟแนนซ์”

นายฉัตรชัยกล่าวว่า ธอส.ประสบปัญหาการบริหารจัดการทางด้านดอกเบี้ย คือ มีต้นทุนสูงกว่าธนาคารอื่น ส่วนหนึ่งมาจากฐานลูกค้าเงินฝากของธนาคารน้อยกว่าธนาคารอื่น รวมถึงธนาคารมีจำนวนสาขาที่น้อยขณะนี้มีเพียง 200 สาขาเท่านั้น เทียบกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไปที่มีสาขามากกว่า 800 สาขาทั่วประเทศ

ดังนั้นนโยบายของธอส.จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับแผนการเปิดสาขาใหม่ในระยะ 3-5 ปีโดยจากนี้ไปจะเปิดสาขาเพิ่มอีกปีละประมาณ 2-3 แห่ง หากสาขาใดปริมาณการทำธุรกรรมน้อยจะใช้วิธียุบรวมและย้ายไปประจำยังสาขาที่มีการทำธุรกรรมที่สูงกว่าแทน

ส่วนยอดอนุมัติสินเชื่อบ้านธอส.รายใหม่ เฉพาะเดือนมีนาคม 2560 คิดเป็นวงเงินกว่า 1.37 หมื่นล้านบาท ทำให้ยอดอนุมัติสินเชื่อไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 2.9 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อราย 1-3 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 10% เนื่องจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จบลงในปี2559 และยังไม่มีมาตรการอื่นเสริมเข้ามา

“แบงก์จะจับตาสถานการณ์ทั้งความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาสที่ 2 สภาพเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีผลต่อภาพรวมของสินเชื่อที่จะเริ่มชะลอตัวก็เป็นได้”

สำหรับนโยบายของธนาคารปี 2560 กำหนดปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยตั้งเป้าไว้ที่ระดับ 6% คิดเป็นวงเงินสินเชื่อใหม่ 1.78 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มียอดปล่อยสินเชื่อ 1.68 แสนล้านบาท ซึ่งอัตราการเติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 4%

ธอส.จำเป็นที่จะต้องพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยพิจารณาเป็นกลุ่มย่อยมากขึ้นผ่าน 2 แนวทาง คือ 1.เน้นนโยบายทางด้านราคา เช่น ออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อบ้านเฉลี่ยไตรมาสละ 1-2 แบบและจะต้องสอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยในอนาคต รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ที่มีรายได้ปานกลาง กลุ่มข้าราชการและผู้ที่มีการดูแลผู้สูงอายุให้ได้รับสินเชื่อในที่ต่ำกว่าสินเชื่อปกติ

2.ผ่อนคลายเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อสำหรับลูกค้าบางกลุ่มให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายมากขึ้น ที่สำคัญการผ่อนคลายเกณฑ์จากเดิมจะต้องทำบนฐานที่ไม่เสี่ยงต่อการทำให้ธนาคารเกิดหนี้เสียตามมาในอนาคตหรือเกิดหนี้เสียให้น้อยที่สุด และเป็นการผ่อนคลายเกณฑ์ภายใต้กรอบของธอส.สามารถทำได้โดยได้ไม่ต้องขออนุมัติจากกระทรวงการคลังหรือผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,250 วันที่ 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2560