ไขข้อกังขาเอื้อBEM? จ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

08 เม.ย. 2560 | 03:00 น.
แม้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะลงนามสัญญากับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM)สัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ ลงนามไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในวันที่ 28 มีนาคมแต่ประเด็นสำคัญคือให้เอกชนรายเดิมเป็นผู้ลงทุนงานระบบรถไฟฟ้า บริหารจัดการเดินรถและซ่อมบำรุง มูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้านบาทได้ยึดหลักผลประโยชน์แก่ประชาชนหรือไม่เป็นการเอื้อ BEM ที่มีกลุ่มบริษัท ช.การช่างฯ เป็นเจ้าของหรือไม่

พิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม ได้ให้สัมภาษณ์ บากบั่น บุญเลิศ และ สุทธิพันธ์ ภู่ระหงษ์ ผ่านรายการ ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ ทาง FM 98.5 MHz สถานี Spring Radio ช่วง “มองไปข้างหน้า” มีสาระสำคัญดังนี้

บากบั่น: ขอให้ท่านช่วยอธิบายว่ามติครม.เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 กรณีการต่อขยายสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จะเกิดประโยชน์ต่อการเดินทางอย่างไร

พิชิต: จะทำให้การเดินทางของประชาชนครบลูปการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะเป็นวงกลมรอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร เริ่มต้นที่หัวลำโพง วิ่งไปตามถนนพระราม 4 รัชดาภิเษก ไปจนถึงบางซื่อ แต่ยังมีจุดขาดช่วงรูปเสี้ยวพระจันทร์อยู่ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนต่อขยายดังกล่าวเพื่อข้ามไปยังฝั่งธนบุรี วิ่งไปตามถนนจรัญสนิทวงศ์ ท่าพระ ข้ามฝั่งมายังกรุงเทพมหานครไปเชื่อมกันที่หัวลำโพง

[caption id="attachment_139022" align="aligncenter" width="503"] ไขข้อกังขาเอื้อBEM? จ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ไขข้อกังขาเอื้อBEM? จ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน[/caption]

ส่วนอีกช่วงได้ขยายไปถึงบางแค การเดินทางของประชาชนเป็นไปตามแผนคือการเดินรถด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินรอบกรุงเทพมหานคร โดยสายสีน้ำเงินเมื่อครบลูปการเดินทางจะมีเส้นทางเชื่อมไปยังชานเมืองอย่างรังสิต ศาลายา บางแค ราษฎร์บูรณะ มีนบุรี ที่จะนำผู้โดยสารจากชานเมืองป้อนเข้ามายังพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครและป้อนออกสู่ชานเมือง ให้สะดวกมากขึ้นเมื่อเปิดให้บริการครบลูปที่กำหนดไว้ จะทำให้ประชาชนลดการใช้รถใช้ถนนลงไปได้
บากบั่น: การขยายระยะเวลาสัมปทานดังกล่าวจะเป็นการเอื้อให้ภาคเอกชนหรือไม่

พิชิต : ทำไมต้องเป็นรายเดิม นี่เป็นข้อพิจารณากันพอสมควรของภาครัฐที่จะทำให้รัฐ-ประชาชนไม่เสียประโยชน์ จริงๆเผื่อว่ามีการเปิดประมูลใหม่ในส่วนต่อขยายนี้จะมีโอเปอเรเตอร์ 2 รายคือ 1.รายเดิม 2.รายใหม่ การลงทุนก็จะซ้ำซ้อนเป็น 2 ระบบ เมื่อเข้าสู่ระบบการเดินทางก็จะเสียค่าแรกเข้า 2 ครั้ง จะทำให้เสียค่าเดินทางเพิ่มสูงขึ้นเมื่อมีผู้ประกอบการ 2 ราย จึงเป็นข้อกังวลว่าเมื่อเป็นอย่างนี้ข้อจำกัดทางด้านวิศวกรรมจะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ หากจะต้องมีการเปิดประมูลครั้งใหม่ในส่วนต่อขยายดังกล่าว จึงต้องเป็นเหตุหลักให้ต้องเจรจากับผู้ประกอบการรายเดิม เผื่อให้ความสูญเสียจากการลงทุนและค่าใช้จ่ายของประชาชนคุ้มค่ามากที่สุด จึงเป็นข้อกังวลของหลายคน ว่ายุติธรรมหรือไม่ ประเด็นอยู่ที่ว่าผลตอบแทนที่ให้กับผู้ประกอบการรายเดิมยุติธรรมหรือไม่ จึงมีการเจรจาว่าหากต้องการให้ผลประโยชน์ตกกับประชาชนมากที่สุด และผู้ประกอบการได้รับผลตอบแทนด้วยจะต้องไม่มากเกินไป อยู่ในกรอบอย่างยุติธรรม ซึ่งมีวิธีคิดหลายแบบ ซึ่งในที่นี้มีอัตราผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรจะเป็นในตลาดหลักทรัพย์ คือคำนวณแล้วคิดที่อัตราผลตอบแทน IRR ให้กับผู้มาลงทุนอยู่ที่ 9.75% ตลอดระยะเวลา 30 ปี

บากบั่น: อัตรานี้ถือว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนทั่วไป ดอกเบี้ยเงินกู้จะตกประมาณ 5% กำไร 4.75% ซึ่งประชาชนตั้งคำถามว่าสุดท้ายการเดินรถเป็นวงกลมของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินครบลูปได้มีการทำนายว่าจะเป็นกลุ่ม ช.การช่าง ได้รับงานดังกล่าวไปดำเนินการ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

พิชิต: หลายคนอาจคิดได้ว่าควรจะประมูล จะเกิดความยุติธรรมที่สุด แต่ว่าเรื่องการกำกับดูแลระบบสาธารณะแบบนี้มีคุณลักษณะทางวิศวกรรมและข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ ในภาษาเศรษฐศาสตร์จะเรียกว่าเป็น National monopoly ในตัวของมันเอง อาทิ การประปานครหลวง จะมี 2-3 รายไม่ได้ ควรจะมีรายเดียวมากกว่า ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินก็มีลักษณะแบบเดียวกัน

บากบั่น: โครงการที่ถูกบีบให้มีการออกแบบรูปเดียวกันของการเดินรถแต่ประชาชนมีคำถามใน 2 องค์ประกอบเกิดขึ้นคือ 1.สายปัจจุบันที่วิ่งให้บริการอยู่แล้ว และ 2.สายใหม่ในส่วนต่อขยาย แต่ 3.ส่วนต่างที่ยังมีปัญหาอยู่คือ 1 กิโลเมตร เมื่อเปิดทางให้รายเดียวมาวิ่งใน 3 ตัวให้เป็นลูปเดียวกันแสดงว่ารัฐต้องมีอำนาจต่อรองมากกว่าภาคเอกชน ทำไมรัฐไม่ไปเจรจาผลประโยชน์ที่จะตกกับประชาชนให้เพิ่มขึ้น อาทิ ระดับราคายังใช้ราคาเท่าเดิม คือ 42 บาท ทั้งๆที่ใช้รถรอบเดียวไม่ต้องเปลี่ยนรถ เปลี่ยนเส้นทาง รอบการให้บริการก็จะมีมากขึ้นราคาสมควรจะปรับลดลงหรือไม่ มีการหารือในเรื่องดังกล่าวนี้หรือไม่

พิชิต: ได้มีการหารือในเรื่องนี้ แต่อย่าลืมพิจารณาดูว่า ปัจจุบันช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ แค่ครึ่งลูป กำหนดราคาสูงสุด 42 บาท ระยะการเดินทางเพิ่มขึ้น แต่ยังราคาเท่าเดิม จำนวนสถานีเพิ่มขึ้นจึงอย่าลืมพิจารณาในส่วนเหล่านี้ด้วย โดยได้นำไปบรรจุไว้ในกรอบการเจรจาในครั้งนี้ด้วย นั่นคือจะให้ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการต้องจ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียว และไม่มีการปรับขึ้นอัตราค่าใช้บริการใด ๆเลย ยังคงเป็นไปตามปกติตลอดอายุสัญญาสัมปทาน

บากบั่น: ตลอด 30 ปี จะไม่มีการปรับค่าโดยสารสูงไม่เกิน 42 บาท ใช่หรือไม่

พิชิต: เข้าใจว่าจะมีเงื่อนไขการปรับเพิ่มได้ตามกรอบที่ตกลงกัน

บากบั่น: จะมีคณะกรรมการมากำกับดูแลราคาการใช้บริการ ทางภาครัฐจะดูไม่ให้มีการเอาเปรียบประชาชน จะรีวิวค่าโดยสาร กี่ปีถึงจะปรับใหม่

พิชิต: หลักการมีกำหนดไว้ แต่ตัวเลขขอดูในรายละเอียดภายหลังอีกครั้ง เพราะจำไม่ได้ แต่เรื่องนี้มีการเจรจากันไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของภาครัฐ และประชาชน กรณีนี้รัฐไม่ต้องจ่ายเงินลงทุนใด ๆภาคเอกชนจ่ายเองทั้งหมด ผลตอบแทนการลงทุนเจรจาให้ต่ำลง โดยปกติผลตอบแทนนี้ในกิจการประเภทคล้ายกันบางคนจะเคลมว่าเป็นดับเบิ้ลดีจิทขึ้นไป หรือกว่า 10% ขึ้นไป แต่กรณีดังกล่าวนี้ได้พยายามเจรจาว่าไม่ต้องมีประมูล ผู้ที่จะมารับดำเนินการก็ไม่ควรจะรับค่าตอบแทนในอัตราที่สูง ส่วนตัวเลขขอไม่เปิดเผยดีกว่า แต่บอกว่าเป็นตัวเลขหลัก 2 ตัว

สุทธิพันธ์: ทาง BEM ต้องลงทุนอะไรบ้าง

พิชิต: BEM จะดำเนินการในเรื่องระบบต่างๆ ค่าดำเนินการ และการซ่อมบำรุงรักษาทั้งหมดในอนาคตจะรวมกัน
สุทธิพันธ์: ส่วนแบ่ง PPPs NET Cost จะแบ่งกันอย่างไร

พิชิต: NET แปลว่า หักค่าใช้จ่ายออกไป เหลือกำไรเท่าไหร่แบ่งกัน

บากบั่น: เมื่อมาดูค่าใช้จ่ายมีความรู้สึกวิตกกังวลอยู่พอสมควร เพราะเงื่อนไขที่บอกว่าการแบ่งรายได้จากการเดินรถ BEM จะจ่ายให้กับรฟม.เมื่อมีผลตอบแทนจากการลงทุน เกิน 9.75 ขึ้นไป นั่นแสดงว่าถ้าต่ำกว่านั้นไม่ต้องแบ่ง ใช่หรือไม่

พิชิต: อินเทนัลเรทออฟรีเทิร์น คือคิดปีที่ 1 หรือคิด IRR ปีที่ 1 และ IRR ปีที่ 10 ก็จะคิดย้อนกลับไป วิธีคิดแบบนี้กว่าที่ IRR จะเป็นบวก คงจะติดลบอยู่ประมาณ 10 ปี นั่นคือเอกชนจะเกิดรับผลตอบแทนได้จะต้องติดลบไปสักระยะหนึ่งก่อน หรือเกินครึ่งแล่วจะค่อยๆฟื้นตัว ดังนั้นเอกชนจึงจะรับภาระการขาดทุนไปหลายปี คาดว่าประเมินคร่าวๆไม่ต่ำกว่า 15 ปี

บากบั่น: เพราะฉะนั้นข้อครหาว่าเอกชนเข้ามาแล้วจะรับส้มหล่น เท้าบวมก็คงไม่ใช่

พิชิต: คงไม่ใช่เพราะเอกชนต้องแบกรับภาระต้นทุนไปก่อนหลายปี เรื่องนี้ประชาชนได้ประโยชน์

บากบั่น: ในเส้นทางอื่นๆ จะมีปัญหาเช่นเดียวกับสายสีน้ำเงินนี้หรือไม่

พิชิต: เป็นกรณีไปครับ

สุทธิพันธ์:?อย่างบีทีเอส สายสีเขียวก็กำลังจะเปิดให้บริการ

พิชิต: กรณีดังกล่าวกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งบีทีเอสลงทุนทั้งหมด แต่ก็ขาดทุนหลายปีกว่าจะได้กำไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,250 วันที่ 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2560