‘ดีวี’ติดเครื่องสตาร์ตอัพ คาด 3 เดือนลงทุนฟินเทค-นอนฟินเทค 3 แห่ง

08 เม.ย. 2560 | 07:00 น.
“ดิจิทัล เวนเจอร์ส” คาด 3 เดือนประเดิมลงทุน“ฟินเทค-นอนฟินเทค จากศูนย์บ่มเพาะดิจิตอล 3 แห่งเล็งอวดโฉมคอยน์แมชีน-กระปุกออมสินไฮเทค “ธนา”เผยสารพัดปัญหาสตาร์ตอัพเกิดช้า

บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด(Digital Ventures:DV)ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ตั้งทุนประเดิม 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,760 ล้านบาท เพื่อลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิตอลและศูนย์บ่มเพาะสตาร์ตอัพ โดยได้ลงทุนในโกลเดนเกต เวนเจอร์สบริษัทไลเรด้าฯและ Life.SREDA

นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหารบริษัทดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด เปิดเผยที่ผ่านมาดีวีตั้งเป้าการลงทุนในกองทุนต่างประเทศมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 700 ล้านบาท, การลงทุนโดยตรง 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 980 ล้านบาทและศูนย์เพาะบ่ม 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 70ล้านบาท

สำหรับการลงทุนในประเทศคาดว่าจะลงทุนกับกลุ่มนักเรียนจากศูนย์เพาะบ่มของบริษัท ปัจจุบันศูนย์บ่มเพาะสตาร์ตอัพ จำนวน 10ทีม คือ1.Peer Power 2. Refinn 3.Pet Insure 4.KYC-Chain 5.Convo lab 6.ETRAN 7.FlowAccount 8.OneStockHome 9.Plizz 9.Refinnและ 10.Seeksterโดย 5 รายเป็นฟินเทค และอีก 5 รายเป็นนอนฟินเทค ซึ่งคาดว่าอีก 2-3 เดือนจะเริ่มลงทุนได้ 2-3 รายเพราะเห็นคนมีความสามารถ

“การลงทุนก้อนใหญ่คืบหน้าไปพอสมควร แต่เป้าลงทุนในประเทศนั้นกำหนดสัดส่วนไว้10%อาจจะยาก เพราะการลงทุนในประเทศเหมือนเอสเอ็มอีคือ ต้องเข้าไปช่วยเยอะมากใช้ Resourceใช้พลังเยอะมากจึงต้องระมัดระวังในเมืองไทยคือ คนดีต้องแพง ไม่สามารถบอกได้ขึ้นอยู่กับราคา ส่วนสาเหตุของการลงทุนช้านั้น คือ ของดีมีน้อยและแพงเกิน จึงเป็นอุปสรรคในเมืองไทย เราจึงทำศูนย์บ่มเพาะเพื่อจะได้เรียนรู้ เราใช้วิธีนี้ ช้าหน่อยแต่ชัวร์”

ที่สำคัญปัญหาการผลักดันให้สตาร์ตอัพเกิดได้ช้านั้นปัญหาอยู่ที่สตาร์ตอัพต้องการศูนย์บ่มเพาะมากกว่านี้เพื่อลดความล้มเหลวเช่นเดียวกันกับสตาร์ตอัพต่างประเทศ เพราะไม่เช่นนั้นสตาร์ตอัพจะมีโอกาสทำผิดค่อนข้างมาก

“สตาร์ตอัพเหมือนเอสเอ็มอีที่ต้องการคนไกด์เรื่องภาษี เรื่องบัญชี เรื่องการจดทะเบียนเรื่องการทำตลาด ยังต้องมีโรงเรียนมากกว่านี้ แต่ก็มีคนพยายามจะทำมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าเทียบขนาดกับเมืองจีนแล้วเมืองไทยยังล้าหลังและยังช้า โดยเฉพาะจะทำอย่างไรให้เมืองไทยทั้งประเทศมีโฟกัสมากกว่าฟินเทค”

ส่วนหน่วยงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิตอลหรือแลปนั้น ในแง่ของการคิดหรือพัฒนาเทคโนโลยีในเมืองไทยนั้นไม่ง่ายอยู่แล้ว แต่กระบวนการของดีวียังคงเดินหน้าภายใน เช่น บลอคเชนซีเคียวริตี และงานระบบภายในต่างๆ

อย่างไรก็ตามขณะนี้คืบหน้าการพัฒนา “คอยน์แมชีน” ซึ่งเป็นเครื่องนับเหรียญ เมื่อนับแล้วอาจจะนำไปฝากหรือบริจาค นับเป็นสตาร์ตอัพที่บริษัททำขึ้นมาเอง และกระปุกออมสินไอเทค เหล่านี้เป็นผลงานจากการศึกษาเทคโนโลยีและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้มีอะไรที่จับต้องได้ ซึ่งทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์คาดว่าจะนำไปโชว์งานมันนี่เอ็กซ์โป

นายธนาให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า คอยแมทชีนต้องทำต้นแบบเป็นชิ้นงานให้ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อป้อนสาขาสำหรับการนับเหรียญ แต่ธนาคารจะนำไปใช้ประโยชน์หรือไม่นั้นถือเป็นอีกเหตุผล แต่เบื้องต้นถือเป็นความสำเร็จของบริษัท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,250 วันที่ 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2560