อนาคคตอับแสงของเครื่องยนต์ดีเซล

08 เม.ย. 2560 | 13:00 น.
ถ้าจะมีอะไรบางอย่างค่อยๆสูญหายไปจากโลกภายในระยะไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงพลังงานและยานยนต์เชื่อว่า หนึ่งในสิ่งเหล่านั้นคือ “รถเครื่องยนต์ดีเซล”เหตุผลหลักเนื่องจากหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปมีนโยบายที่ชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซไอเสียต่างๆ (อาทิ คาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ฯลฯ) สู่ชั้นบรรยากาศ เมืองใหญ่หลายแห่งของยุโรปมีกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยไอเสียของรถยนต์ และหลายแห่งก็ตั้งเป้าหมายลดจำนวนยานยนต์ที่พ่นไอเสียออกจากท้องถนนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า รถเมล์ไฟฟ้า หรือรถรางไฟฟ้าแทน

ยกตัวอย่างเมื่อเร็วๆนี้ มหานครลอนดอนประเทศอังกฤษ ประกาศแผนเปลี่ยนรถเมล์ (แบบชั้นเดียว) ที่วิ่งเส้นทางย่านใจกลางเมือง ให้เป็นรถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมดเพื่อจะได้ไม่มีการปล่อยไอเสีย และในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น 2 เมืองใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ คือ เมืองไอนด์โฮเวน และเฮลมอนด์ก็ได้ประกาศว่ามีการจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้ารุ่นตัวถังยาวเป็นพิเศษและจุผู้โดยสารได้มากขึ้น จำนวน43 คัน มาให้บริการประชาชนตามเป้าหมายเปลี่ยนให้รถเมล์ทุกคันที่เคยใช้นํ้ามันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงหมดออกไปจากท้องถนน ขณะที่กรุงอัมสเตอร์ดัมก็ประกาศจะเปลี่ยนรถเมล์เชื้อเพลิงเป็นรถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมด อย่างช้าที่สุดภายในปี 2025

TP30-3250-4 ไม่เพียงเท่านั้น ปารีส เอเธนส์ มาดริดและเม็กซิโกซิตี ต่างก็เข้าร่วมพันธะสัญญาที่จะค่อยๆลดและเลิกการใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลภายในปีค.ศ. 2025 หรือพ.ศ. 2568 ซึ่งก็อีกเพียง 8 ปีข้างหน้า จากแนวโน้มดังกล่าวก็พอจะเห็นได้ว่ากระแสลดการปล่อยไอเสียสู่อากาศนั้นกำลังเกิดขึ้นในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก และนั่นก็หมายถึงการผงาดขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์เครื่องดีเซลทั้งหลาย

TP30-3250-6 งานวิจัยของธนาคารยูบีเอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ออกมาตอกยํ้าเทรนด์ดังกล่าวโดยระบุว่า รถยนต์ดีเซลจะหมดไปจากตลาดรถยนต์โลกภายในปี 2568 นั่นไม่เพียงเพราะการรณรงค์ระดับเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ในระดับประเทศอย่างเช่น ฝรั่งเศสและเบลเยียม ก็ได้มีนโยบายชัดเจนเลิกสนับสนุนการใช้นํ้ามันดีเซล โดยจะมีการปรับขึ้นอัตราภาษีนํ้ามันดีเซล ซึ่งในอดีตเคยอยู่ในอัตราที่ตํ่ากว่าภาษีนํ้ามันเบนซินทำให้มีผู้หันมานิยมใช้นํ้ามันดีเซลกันมากในภูมิภาคยุโรป แต่ข้อจูงใจดังกล่าวนั้นกำลังจะหมดไป ขณะเดียวกันภาครัฐก็ส่งเสริมการใช้พาหนะขนส่งมวลชนระยะทางไกลที่เป็นรถไฟฟ้า เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเลิกใช้รถยนต์ส่วนตัวที่ใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงแล้วหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแทน งานวิจัยพยากรณ์ว่า ในขณะนี้ อาจจะมีการใช้เชื้อเพลิงดีเซลในรถประเภทรถบรรทุกและรถอเนกประสงค์ (เอสยูวี) ขนาดใหญ่ แต่ต่อไปในอนาคตก็จะค่อยๆปรับเปลี่ยนกลายเป็นยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นในที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,250 วันที่ 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2560