สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ โจทย์ใหญ่ เอ็มดีหญิง ช.การช่าง ‘จะรักษาความยั่งยืนได้อย่างไร’

07 เม.ย. 2560 | 02:00 น.
ความสำเร็จของช.การช่างที่ก้าวขึ้นมาเป็นบิ๊กทรีในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างไทย จากบริษัทที่เริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาทต้นๆ ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดขึ้นมาเป็น 1.69 พันล้านบาทในปัจจุบัน มีสินทรัพย์รวมกว่า 9.4 หมื่นล้านบาท พอร์ตงานก่อสร้างในมือมูลค่ารวมกว่าแสนล้านบาท คือแรงกดดันเธอ “สุภามาส ตรีวิศวเวทย์” บุตรคนโต ของ “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” ที่เข้ามารับไม้ต่อเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา

สุภามาส เริ่มการสนทนากับ “ซีอีโอโฟกัส” ด้วยการระบุว่าคีย์ซักเซสที่ทำให้ ช.การช่างมีวันนี้ มาจาก 3 ประการ คือ 1.วิชันถูกต้อง2. ทำงานเป็นทีม และ 3. อดทน ก่อนเท้าความถึงความรู้สึกวันแรกๆที่บอร์ดแต่งตั้งเธอเป็นเอ็มดี เธอยอมรับว่ากังวลมาก เพราะพื้นฐานการศึกษาของเธอมาจากสายศิลป์ไม่ใช่วิศวะและไม่มีประสบการณ์ฝ่าฟันเช่นรุ่นบุกเบิก แต่คุณพ่อให้ข้อคิดเสมอว่า(พ่อ)ไม่ได้ต้องการเป็นแบบพ่อ ให้เป็นแบบฉบับตัวเอง

“จุดที่เป็นกำลังใจให้เรามากคือพ่อบอกว่าช.การช่างมีวันนี้ มันคือการสะสมมานานกว่า 40 ปี แต่ลูกเข้ามาวันแรกไม่จำเป็นต้องเหมือนพ่อที่เริ่มจากทุนจดทะเบียนเพียง 1.4ล้านบาท มาวันนี้มีทุนหลักพันล้านบาท แน่นอน ช.การช่างมีฐานขนาดใหญ่แล้วเพียงแต่ว่าเราจะรักษาและต่อยอดให้มั่นคง ยั่งยืนอย่างไรนั่นคือโจทย์ใหญ่” เธอขยายความในใจ

สุภามาสหรือชื่อที่พนักงานเพื่อนร่วมงานเรียกติดปากว่า “คุณหนิง”จบคณะอักษรศาสตร์ (ภาษาอิตาลี)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,ปริญญาโทคณะบริหารรัฐกิจที่สหรัฐอเมริกาหลังจากนั้นได้ไปทำงานที่เวิลด์แบงก์หรือธนาคารโลก ประจำประเทศไทยในตำแหน่งนักวิจัย ก่อนไปศึกษาต่อและจบปริญญาเอก สาขารัฐประศาสนศาสตร์ (Public Policy) ที่สหรัฐอเมริกา

“คุณพ่อไม่เคยบังคับ บอกมาเสมอตั้งแต่เด็กอยากเรียนอะไรที่ชอบก็เรียนไปเลย เมื่อจบดร.ช่วงนั้น ช.การช่างเติบโตขึ้นมามาก จากที่มีรายได้หลักพันล้านบาท มาเมื่อ 5 ปีที่แล้วเป็นหลัก 2 หมื่นล้านบาทและปีที่แล้วกระโดดเป็น 4 หมื่นล้านบาท สเกลเราใหญ่ขึ้นเรื่อยๆและเราจะไม่เข้ามาช่วยเหรอในเรื่องใจเราเกินร้อยและมีความชอบอยู่แล้วจุดนั้นก็เลยตัดสินใจบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าจะเข้ามาช่วย” สุภามาสเล่าเบื้องหลังการตัดสินใจครั้งนั้น

เธอเข้ามาช่วยงานครอบครัวเมื่อ 11 ปีที่แล้วในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสำนักกรรมการใหญ่ก่อนเข้ามาดูแลโครงการโรงไฟฟ้าพลังนํ้านํ้างึม 2 ที่สปป.ลาว ตั้งแต่เริ่มโครงการ เป็นกรรมการผู้จัดการ ซีเคพาวเวอร์ (CKP)(บริษัทในเครือ) จนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 จึงได้รับไม้ต่อเป็น “กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ช.การช่าง” เจเนอเรชันรุ่น 2 ต่อจากคุณปลิว ดูแลพอร์ตโครงการในมือกว่าแสนล้านบาทเป็นแบ็กล็อกที่ตุนอยู่อีกกว่า 8 หมื่นล้านบาท และมียอดรับรู้รายได้เฉลี่ยต่อปี 3.5 หมื่นล้านบาท

เคล็ดลับหรือหลักการบริหาร เธอกล่าวว่าไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวดูวิธีการทำงานจากคุณพ่อ แล้วก็ค่อยๆ นำมาปฏิบัติตาม เน้นในเรื่องทีมเวิร์ก การบริหารคน เพราะท้ายสุดหน้าที่ของเอ็มดี ไม่ต้องรู้ทุกอย่างแต่ต้องบริหารคนให้เป็น นั่นคือหัวใจสำคัญที่สุด

“สไตล์การบริหารหนิง น่าจะใกล้เคียงคุณพ่อคือเอาคนเป็นหลัก ทีมเวิร์ก การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมให้เกียรติและเคารพการทำงานของ professional แต่ละคนเพราะแต่ละคนอาจมีความเก่งที่แตกต่างกัน แต่ท้ายสุดจะทำอย่างไรให้คนเก่งแต่ละคนมาอยู่รวมกันได้ และสร้าง synergy (พลังผนึก) ของการทำงาน ซึ่งตรงนั้นจะมากกว่า1 + 1 = 2 อาจจะเป็น 1+1 = 4 หรือ 5 ” เธอกล่าว และต่อว่า ยังเป็นความโชคดีที่คนรุ่นก่อตั้งผู้บริหารและรุ่นใหม่อยู่กันครบ อย่างคุณพ่อ(ปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร ในวัยย่างเข้า 6 รอบ) ก็ยังแอกทีฟทำงานฟูลไทม์ทุกคนพร้อมจะช่วยเทรน ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของ ช. การช่าง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,250 วันที่ 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2560