ผ่าโครงสร้างกสทช.ลดบอร์ดเหลือ 7 คน

05 เม.ย. 2560 | 09:00 น.
ในที่สุด สนช.หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ผ่านร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) (ฉบับที่...)พ.ศ....ในวาระที่ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้ปรับแก้ไขทั้งหมด ด้วยคะแนน 197 เสียง และ งดออกเสียง 2 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุมทั้งหมด 199 เสียง

 ลดบอร์ดเหลือ 7 คน
สำหรับร่าง พ.ร.บ.กสทช.ดังกล่าวเป็นการแก้ไขร่างเมื่อปี 2533 ในเรื่องเกี่ยวกับองค์ประกอบและคุณสมบัติของกรรมการ กสทช.ปรับลดคณะกรรมการ กสทช.จาก 11 คน เหลือ 7 คน (ดูตารางประกอบ) ประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ได้แก่ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม, วิศวกรรม, กฎหมาย, เศรษฐศาสตร์ คุ้มครองผู้บริโภค และ เพิ่มให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ขณะที่คุณสมบัติของ กสทช. ก็เพิ่มขึ้น เช่น ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป ตำแหน่งทางวิชาการต้องสูงกว่ารองศาสตราจารย์ขึ้นไปไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นหรือเคยเป็นนายทหารหรือนายตำรวจที่มียศตั้งแต่พลโท พลอากาศโท พลเรือโท หรือ พลตำรวจโท ขึ้นไปหรือเคยเป็นผู้บริหารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองกรรมการผู้จัดการใหญ่ในบริษัทมหาชนที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท หรือมีประสบการณ์ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี นอกจากนี้แก้ไขอายุของกรรมการลดลงจากเดิมกำหนดอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี เป็น 40 ปี และไม่เกิน 70 ปีจากเดิมแค่ 65 ปี

ส่วนคุณสมบัติต้องห้ามได้แก้ไขห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังโดยหมายศาล ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเคยถูกวุฒิสภามีมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง เป็นหรือเคยเป็นกรรมการผู้จัดการผู้บริหารที่ปรึกษาพนักงาน ผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านการกระจายเสียง โทรทัศน์ หรือกิจการด้านโทรคมนาคมในระยะเวลา 1 ปี ก่อนคัดเลือก

  เสนอรายชื่อใน 30 วัน
ในส่วนของการคัดเลือกบุคคลมาเป็น คณะกรรมการสรรหา ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการในการสรรหาและคัดเลือกกรรมการ ประกอบด้วย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย , ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ผู้พิพากษาในศาลฎีกา, ตุลาการศาลปกครองสูงสุด , กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของหน่วยงานที่สังกัดอย่างละ 1 คนซึ่งจากร่างเดิมที่ให้เป็นหน้าที่ ของสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้ร่างพ.ร.บ.ยังได้เพิ่มเติมห้ามไม่ให้ผู้พ้นจากตำแหน่ง กรรมการกสทช.เป็นผู้ถือหุ้นส่วนหรือดำรงตำแหน่งใดในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจด้านวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี

ในส่วนของกระบวนการสรรหานั้น คณะกรรมการสรรหาต้องคัดเลือกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการให้ได้จำนวน 2 เท่าของกรรมการแต่ละด้าน ให้ได้ภายใน 30 วันนับแต่ได้รายชื่อผู้สมัคร เพื่อเสนอรายชื่อให้วุฒิสภาลงมติเลือก

 เปิดชื่อบอร์ดปัจจุบัน
ว่าด้วยเรื่องคณะกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบัน ถูกแต่งตั้งและปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 มีวาระการทำงาน 6 ปี คณะกรรมการชุดนี้แบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน โดยแบ่งคณะกรรมการย่อย 2 ชุด ชุดละ 5 คน (ไม่รวมประธาน กสทช.) คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.)

หากแต่ กรรมการ กสทช.ถูกแต่งตั้ง 11 คน ปัจจุบันเหลือเพียง 8 คน

ประกอบด้วย 1. พล.อ.อ.ธเรศ ปุณณศรี ประธาน กสทช.,2. พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และในฐานะประธาน กทค.,3. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และในฐานะประธาน กสท.,4. พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร กรรมการ กทค. ,5. น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กทค.,6.นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กทค.7. พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสท. และ 8. นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์กรรมการ กสท.

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการ หมดวาระดำรงตำแหน่งครบเทอม 6 ปี ตาม พ.ร.บ.กสทช. เมื่อปี 2553 ในเดือนตุลาคม 2560

ขณะที่ คณะกรรมการ กสทช. จำนวน 3 คนที่อยู่ไม่ครบวาระ คือ 1.นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กทค. ขอลาออก ไปรับตำแหน่ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และประธานกรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลัง เมื่อปี 2557 และ ปัจจุบันเลขาธิการคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), 2. พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า (กสท.) เกษียณอายุราชการ เมื่อปี 2559และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ แม้ปัจจุบันยังมีตำแหน่งเป็น กสทช. แต่ขอยุติบทบาท กสทช. เมื่อวันที่15 มีนาคม 2560 หลังจากมีคำพิพากษาศาลฎีกา คดีบุกปีนรั้วรัฐสภาคัดค้าน ก.ม.สนช.ปี 2550

ว่ากันว่า กระบวนการสรรหา กสทช.นั้นเริ่มภายในเดือนพฤษภาคม หรือ อย่างช้าเดือนมิถุนายน เพื่อให้ทัน กสทช.ชุดปัจจุบันหมดวาระ

รอลุ้นกันต่อไปว่าใคร? คือ 7 อรหันต์ ตัวจริงเสียจริงในชุดรัฐบาลที่มาจากวาระพิเศษ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,250 วันที่ 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2560