เอสเอ็มอี-นิติบุคคลอ่วม สภาวิชาชีพบัญชีเล็งปรับมาตรฐานใหม่ปี61

06 เม.ย. 2560 | 00:00 น.
เอสเอ็มอีและนิติบุคคลราว 3.2 ล้านรายกระอักสภาวิชาชีพบัญชีเล็งปรับมาตรฐานใหม่ปี 61 สำนักสอบบัญชีเผยเพิ่มต้นทุนให้ผู้ประกอบการเบื้องต้น 2,000 บาทจนถึงหลักหมื่นหลักแสน เอกชนยอมรับแบกภาระเพิ่ม

นายชัยยุทธ อังศุวิทยาหุ้นส่วนสำนักงาน เอ.เอ็ม.ที. แอสโซซิเอท ซึ่งเป็นสำนักสอบบัญชีเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าวันที่ 1 มกราคม 2561 สภาวิชาชีพบัญชีจะประกาศให้มีการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS for SME ของสากล หรือยกร่างมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ เพื่อบังคับใช้กับนิติบุคคลไทยในกลุ่มของนิติบุคคลที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะ (NPAE) ต้องจัดทำบัญชีแบบง่ายที่เรียกว่า NPAE Accounting โดยจะยกเลิกมาตรฐานฉบับ NPAE ที่ใช้ในปัจจุบัน

“ความจริงตามแผนจะประกาศใช้ภายในปี 2560 แต่เมื่อเรื่องถูกส่งผ่านไปที่คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) แล้วไม่เห็นด้วยเพราะดูแล้วยังไม่มีความพร้อมทั้งเรื่องของวิธีการ การทำความเข้าใจต่อสาธารณชนจึงให้ชะลอออกไปอีก 1 ปี และจะประกาศใช้ต้นปี 2561 ระหว่างนี้รอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาหลังจากที่ผ่านสภาวิชาชีพบัญชีและผ่านคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีหรือกกบ.มาแล้ว”

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนมาตรฐานบัญชีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีอยู่แล้วตามข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ประมาณ 5 แสนราย รวมถึงบุคคลธรรมดาที่กำลังจะจดทะเบียนก่อตั้งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การจัดตั้งนิติบุคคลที่ถือหุ้นคนเดียวพ.ศ. … ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์เพื่อสนับสนุนและรองรับให้เกิดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ (Startup) ตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งยังช่วยลดขั้นตอนของการจดทะเบียน และยังเป็นการป้องกันปัญหาการตั้งผู้ถือหุ้นปลอม หรือนอมินีขึ้น ซึ่งตามเป้าหมายของรัฐบาลคือต้องการให้มีนิติบุคคลเพิ่มขึ้น 2.7 ล้านราย เมื่อรวมทั้ง 2 กลุ่มจะถูกกระทบประมาณ 3.2 ล้านราย

สำหรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ผู้ประกอบการจะต้องเสียในเบื้องต้นต่อราย คาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท แต่เป็นเพียงแค่ใช้จ่ายรายการเดียวที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานบัญชีดังกล่าว หากต้องมีการตีความรายการบัญชีมากขึ้น ก็จะต้องมีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการ ซึ่งค่าใช้จ่ายก็อาจจะเพิ่มขึ้นไปได้ถึงหลักหมื่น หรือหลักแสนก็มีความเป็นไปได้

นายชัยยุทธ กล่าวอีกว่าความแตกต่างของมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ และฉบับเดิมนั้น หากเป็นมาตรฐานเดิมชุด NPAE จะใช้แนวคิด ราคาทุนเดิม (Historical Cost) ซึ่งจะสอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีที่เก็บตามราคาต้นทุนที่เกิดขึ้น แต่มาตรฐานฉบับใหม่ในชุด NPAE จะใช้แนวคิดราคายุติธรรม (Fair Value) โดยจะต้องทำให้มีการปรับมูลค่าบัญชีเป็นราคายุติธรรมทุกสิ้นงวดบัญชีซึ่งในการปรับมูลค่ายุติธรรมดังกล่าว แทบทุกเรื่องจะต้องใช้ดุล พินิจผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายในการจัดทำบัญชีเพิ่มขึ้นมาก“ผลที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่นั้น จะทำให้การจัดทำบัญชียุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ต้องใช้การตีความรายการบัญชีมากขึ้นซึ่งอาจต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญ การตีความจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าของบริษัท นักบัญชีและผู้สอบบัญชีอีกทั้งยังทำให้ต้นทุนการทำบัญชีสูงขึ้น และที่สำคัญจะเกิดการจัดรูปแบบโครงสร้างกลุ่มบริษัท เพื่อหลีกเลี่ยงการทำบัญชีที่ซับซ้อนมากๆโดยเป็นการขัดขวางการพัฒนาธุรกิจขนาดเล็กของไทยให้เติบโตขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ และภาครัฐจะได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง”

นายพัฒนศักดิ์ แสนสมรสกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีควอลิตี้แมชชีนพาร์ท จำกัด และอุปนายก สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย กล่าวให้ความเห็นว่า พอจะทราบเรื่องการปรับมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ที่จะมีการประกาศใช้ดังกล่าวอยู่บ้างโดยเชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในเรื่องของต้นทุน หรือเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการอย่างแน่นอน ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ทางกรมสรรพากร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ หรือสนับสนุนในเรื่องของการสร้างองค์ความรู้ ผ่านการเปิดอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสิทธิ์ในการหักลดหย่อนค่าใช้จ่าย โดยอาจจะทำเป็นรูปแบบขั้นบันไดในช่วง 2-3 ปีแรกยังไม่ต้องเก็บ แต่ไปเก็บหลังจาก5 ปีไปแล้ว

นายปรีชา บุญเวียง ประธานกรรมการ บริษัท เมืองใหม่โครเมี่ยม จำกัด และบริษัทเมืองใหม่ โครเมี่ยมอิเล็คโตร เพรทติ้งจำกัด กล่าวว่า หากต้องมีการเพิ่มรายจ่ายให้กับอุตสาหกรรมก็ต้องถือว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการในเรื่องของต้นทุน การนำมาตรฐานบัญชีตามหลักสากลที่ยึดแบบจากยุโรปมาใช้ มองว่าจะต้องคำนึงถึงเรื่องของมาตรฐานรายได้ที่แตกต่างกันด้วย เพราะของยุโรปจะมีรายได้ต่อหน่วยต่อชิ้นที่มากกว่าของเราโดยรายได้ของเอสเอ็มอีไทยค่อนข้างที่จะตํ่า ซึ่งการจะนำรายจ่ายมาเปรียบกันจากรายได้ที่แตกต่างกันมองว่าไม่น่าจะเปรียบเทียบกันได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,250 วันที่ 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2560