บิ๊กพพ.เข็นอนุรักษ์พลังงาน กางแผนดึงเอกชนร่วมภาครัฐ

06 เม.ย. 2560 | 03:00 น.
เมื่อปีที่ผ่านมาทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพง) ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ประเมินนโยบาย และแผนมาตรการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในช่วงปี 2556-2559 โดยแผนอนุรักษ์พลังงาน เป็นส่วนหนึ่งที่มีการประเมินออกมาในการดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะในช่วงปี 2559 ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) รับผิดชอบสามารถประหยัดพลังงานได้อยู่ที่ 758 พันตันเทียบเท่าน้ำมัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 885 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือทำได้เพียง 91 %

ในปีนี้จึงเป็นปีแห่งความท้าทายว่าทางพพ.จะสามารถดำเนินงานด้านอนุรักษ์พลังงานให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ "ฐานเศรษฐกิจ"ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษนายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ว่าจะมีแผนปฏิบัติให้การอนุรักษ์พลังงานของประเทศไปสู่จุดหมายได้อย่างไร

 ตั้งเป้าใช้พลังงานต่ำลง
โดยนายประพนธ์ ได้ชี้ให้เห็นว่า การดำเนินงานงานอนุรักษ์พลังงานของพพ.ยังไม่รวมในส่วนของการอนุรักษ์พลังงานภาคการขนส่ง ที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินงานของพพ.ในปี 2560 นี้ ได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานให้ได้ 703 พันตันเทียบเท่าน้ำมัน ซึ่งจะประกอบไปด้วย การกำกบดูแลอาคารควบคุมและโรงงานควบคุมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน ที่จะต้องจัดให้มีการผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน และจัดทำระบบการจัดการพลังงาน ในอาคารควบคุม 3 พันแห่ง และโรงงานควบคุม 5.6 พันแห่ง โดยที่พพ.จะจัดหาที่ปรึกษามาเป็นพี่เลี้ยงในการส่งเสริม ซึ่งจะช่วยให้อาคารและโรงงานควบคุมดังกล่าวมีการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าการดำเนินงานจะเกิดการประหยัดได้ 311 พันตันเทียบน้ำมันดิบ

นอกจากนี้ ในราวกลางปีนี้จะมีการนำกฎหมายออกแบบอาคารประหยัดพลังงานหรือ Building Energ Code มาใช้บังคับกับอาคารใหม่ที่มีขนาด 1 หมื่นตารางเมตรขึ้นไป จะต้องมีการออกแบบอาคารให้เกิดการประหยัดพลังงาน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการลดการใช้พลังงานในอาคารได้ส่วนหนึ่ง โดยมีแผนจัดฝึกอบรมผู้ตรวจแบบอาคาร ในการเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไว้จำนวน 500 คน ซึ่งในช่วงปี 2552-2559 ที่เกิดจาการสมัครใจของผู้ประกอบการ 435 อาคาร สามารถลดการใช้พลังงานได้ 18.9 พันตันเทียบน้ำมันดิบ

 ติดฉลากประหยัดไฟเพิ่ม
อีกทั้ง ในการส่งเสริมอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน มีแผนที่จะติดฉลากอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในปีนี้ไว้จำนวน 6 ล้านใบ ใน 11 ผลิตภัณฑ์เดิม และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ผลิตภัณฑ์ เช่น เตาอินฟาเรด ฉนวนอุตสาหกรรม พดลมอุตสาหกรรม มอเตอร์เฟสเดียว อิฐมวลเบา และฟิล์มกรองแสงสำหรบอาคาร ซึ่งจะช่วยให้เกิดผลการประหยัดพลังงานได้ 200 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยพบว่าการติดฉลากที่ดำเนินการของพพ.ในปี 2559 ที่ผ่านมาจำนวน 6.7 ล้านใบ สามารถประหยัดการใช้พลังงานได้ 164 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ และหากนับย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2550-2558 มีการติดฉลากประหยัดพลังงานไปแล้ว 17 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่าที่ประหยัดได้ 8 พันล้านบาทต่อปี โดยยังไม่รวมในส่วนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ดำเนินการอีก 25 ล้านใบใน 30 ผลิตภัณฑ์ จะช่วยให้ประหยัดได้อีก 89 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ

ในขณะเดียวกันจะมีมาตรการสนับสนุนทางด้านการเงิน ซึ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 3.5 % ต่อปี ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 5 ปี วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการอนุรักษ์พลังงานในการนำไปปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ การลงทุนด้านโซลาร์รูฟท็อป การติดตั้ง แอลอีดี และการติดตั้งระบบปรับอากาศ ซึ่งตั้งเป้าหมายในการปล่อยกู้ผ่านสถาบันการเงินต่างๆไว้ 1,571 ล้านบาท คาดจะก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานได้ 76 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี

 อัดเงินให้ภาครัฐลงทุน
ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงการสนับสนุนการลงทุนการปรบเปลี่ยนอุปกรณ์ในโรงพยาบาลของรัฐในปีนี้อีก 70 แห่ง ในวงเงิน 767 ล้านบาท เพื่อใช้สนับสนุนโครงการในสัดส่วน 70 % ของโครงการ ก่อให้เกิดผลประหยัดได้ 8.5 พันตันเทียบเทาน้ำมันดิบต่อปี โดยในปีที่ผ่านมาได้ใช้เงินสนับสนุนไป 750 ล้านบาท สามารถจัดสรรให้กับโรงพยาบาลของรัฐได้ 71 แห่ง เกิดการประหยัดได้ 9 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบหรือคิดเป็นเงิน 420 ล้านบาท

อีกทั้ง ยังสนับสนุนเงินลงทุนในการปรับเปลี่ยน เครื่องจักรอุปกรณ์ในสถานประกอบการ วงเงิน 300 ล้านบาท โดยให้เงินสนับสนุนไม่เกิน 30 % ในการลงทุน มีระยะเวลาคืนทุนไม่เกิน 7 ปี จะช่วยประหยัดพลังงานได้ 15 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีเงินสนับสนุนการลงทุนให้กับโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงานให้แก่หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ในวงเงินสนับสนุน 4 พันล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดผลประหยัดได้ 36 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบหรือคิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 540 ล้านบาทต่อปี อีกทั้ง สนับสนุนการลงทุนให้กับโครงการด้านการส่งเสริมพลังงานทดแทนให้แก่หน่วยงานภาครัฐ วงเงินสนับสนุน 2 พันล้านบาท คาดจะก่อให้เกิดการประหยัดได้ 4 พันตันเทียบเทาน้ำมันดิบหรือคิดเป็น 60 ล้านบาทต่อปี

"ในการลงทุนของภาครัฐด้านพลังงานทดแทน มีหน่วยงานได้เข้ามาของงบในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาทเป็นจำนวนมาก คิดเป็นวงเงินถึง 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งทางพพ.มีคณะกรรมการที่จะมาพิจารณาว่าโครงการที่เข้าข่ายได้รับการสนับสนุนหรือไม่ เพราะไม่สามารถให้ทุกโครงการได้ เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด หากโครงการยังไม่เข้าข่ายอาจจะต้องรอในงบประมาณปีถัดไปแทน"

ทั้งนี้ จากแผนที่กล่าวว่าทั้งหมดนี้ อธิดีบีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หวังว่า จะช่วยให้การดำเนินอนุรักษ์พลังงานของประเทศในปีนี้ไปสู่จุดเป้าหมายที่วางไว้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมที่จะทำให้การอนุรักษ์พลังงานของประเทศเดินไปสู่แผนที่วางไว้ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,250 วันที่ 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2560