บรรจุภัณฑ์พลาสติกมาแรง ตอบโจทย์ตรงเป้าผู้บริโภค ยึดส่วนแบ่งนำตลาด

05 เม.ย. 2560 | 12:00 น.
จับตาตลาดบรรจุภัณฑ์ พลาสติกได้รับความนิยมสูงสุด ขณะที่ขวดแก้วมีผู้ผลิตน้อยรายทำให้ออร์เดอร์จากจีนคึกคัก กระป๋องอะลูมิเนียมทรงตัว ด้าน “บางกอกแคน”ผู้ผลิตกระป๋องอะลูมิเนียม ไม่หวังเป้ายอดขายปี 60 โตยอมรับกำลังซื้อหดตามเศรษฐกิจ และมีข้อจำกัดของตลาด

ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เติบโตล้อไปตามจีดีพีของประเทศ ขึ้นอยู่ที่ว่าผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ประเภทไหนที่ได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคปลายทางเป็นผู้ตัดสิน ล่าสุดบรรจุภัณฑ์พลาสติกได้รับเสียงตอบรับในลำดับต้นๆโดยมีกลุ่มเป้าหมายกว้างกว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่น

ต่อเรื่องนี้นายอิทธิชัย ยศศรี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา2 กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ตลาดบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบันจะแบ่งออกเป็น2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร โดยกลุ่มที่ใช้มากที่สุดในตลาดคือ กลุ่มพลาสติก(ดูตาราง) โดยบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆจะใช้ในกลุ่มอาหารมากและเครื่องดื่มมากถึง70% และ30% เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในกลุ่มนอนฟู้ดส์หรือกลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร

ทั้งนี้ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้บรรจุภัณฑ์ มีหลากหลายวัตถุประสงค์ขึ้นอยู่ที่ว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทไหนตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากที่สุด โดยผู้บริโภคจะดูที่การรักษาสภาพสินค้า เช่น ต้องไม่แตก ไม่บิ่น รักษาอายุสินค้าให้มีคุณภาพดี มีความสะดวกในการใช้ ปัจจัยในการขนส่งดูเรื่องน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงสะดวกต่อการใช้ในกลุ่มสังคมผู้สูงวัย และจะต้องเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไบโอ เช่น เส้นใยธรรมชาติ ย่อยสลายง่าย เหล่านี้เป็นองค์ประกอบหลักของผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจเลือกประเภทบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับสินค้า และความสะดวกที่สุด

นายอิทธิวัตร รัตตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไนน์ตี้ วัน จำกัด เปิดเผยว่า เป็นผู้นำเข้าสินค้าจากจีน โดยเฉพาะการนำเข้าขวดแก้วจากโรงงานผลิตขวดแก้วเคพี ที่จีน ที่ขณะนี้ตลาดกำลังไปด้วยดีเพราะในประเทศไทยมีผู้ผลิตรายใหญ่เพียง 3 ค่าย ในขณะที่ความต้องการใช้ขวดแก้วยังมีอยู่ต่อเนื่อง โดยออเดอร์ในไทยส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อขวดไวน์และเครื่องดื่มอื่นๆสัดส่วน 90% อีก 10% เป็นขวดแก้วสำหรับบรรจุอาหาร เช่น น้ำพริก ขวดโหล ยาหม่อง โดยการนำเข้าจากจีนจะได้เปรียบในแง่ราคาและต้นทุนที่ถูกกว่าเนื่องจากผลิตล็อตใหญ่

ทั้งนี้ออเดอร์ที่บริษัทรับได้จะมี 2 แบบคือ1.สั่งซื้อในขวดแก้วรุ่นที่ผลิตอยู่แล้วจะต้องซื้อไม่ต่ำกว่า1ตู่คอนเทนเนอร์หรือราว4หมื่นถึง 1แสนใบแล้วแต่ขนาดขวด 2.สั่งซื้อโดยผลิตตามแบบของลูกค้าจะต้องซื้อตั้งแต่3 -5 แสนใบแล้วแต่ขนาดแก้วต่อ1ไลน์ผลิต

อย่างไรก็ตามมองว่าบรรจุภัณฑ์แต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่าง เช่นขวดพลาสติกจะได้เปรียบตรงที่มีน้ำหนักเบา แต่ขวดแก้วจะได้ความสวยงามเมื่อสินค้าวางจำหน่าย ทำให้สินค้าดูมีราคา และรสชาติในขวดจะเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด ขณะที่กระป๋องอะลูมิเนียมความนิยมจะเจาะเฉพาะกลุ่ม ตลาดพร้อมดื่ม

ปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดบรรจุภัณฑ์จะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกสัดส่วนสูงถึง40-50% ที่เหลือจะกระจายไปยังบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม รวมถึงกล่องนม กล่องน้ำผลไม้ เป็นต้น

ด้านนายศักดิ์ชัย มโนจิตงาม กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท บางกอกแคน แมนนูแฟคเจอริ่ง จำกัด หรือ BCM ในเครือบริษัท โตโยไซกัน จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ทุกประเภทรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกจากประเทศญี่ปุ่นเปิดเผยถึงภาพรวมการดำเนินการผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมที่โรงงานรังสิต ช่วงคลอง 2 เส้นรังสิต-นครนายก ซึ่งมีอยู่ 3ไลน์ผลิตว่าปีนี้ยังไม่มีการลงทุนเพิ่มเนื่องจากภาพรวมกำลังซื้อยังไม่ดีตามภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นจะพยายามรักษาระดับยอดขายไว้เท่ากับปี2558-2559 โดยมียอดขายอยู่ที่ 3,900-4,000 ล้านบาทต่อปี

นายวีระ อัครพุทธิพร อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย(TBA) กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดกระป๋องอะลูมิเนียมเติบโตไม่มากเท่าบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่น เช่นพลาสติก แก้ว ที่สะดวกในการบริโภค กรณีดื่มไม่หมดก็ปิดฝาเก็บได้ ขณะที่บรรจุภัณฑ์กระป๋องอะลูมิเนียมเปิดฝาแล้วต้องดื่มให้หมด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,250 วันที่ 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2560