ผ่าตัดสหกรณ์โคม่าพันแห่ง ได้ไม่คุ้มเสียเหตุเจ๊งเกือบ3หมื่นล้าน-หวั่นเลียนแบบ

07 เม.ย. 2560 | 04:00 น.
ก.เกษตรฯ เตรียมผ่าตัดใหญ่สหกรณ์โคม่ากว่า 1 พันแห่งทั่วประเทศ รับลูก “ประยุทธ์” เร่งสร้างสหกรณ์เข้มแข็ง ชู 19 สหกรณ์ต้นแบบแก้หนี้ วงในกรมส่งเสริมสหกรณ์แฉมูลค่าความเสียหายกลุ่มนี้สูงถึง 2.95 หมื่นล้าน หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย

จากที่ภาครัฐได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ โดยเป็นการรวมตัวกันของบุคคลที่มีอาชีพอย่างเดียวกันหรือที่อยู่ที่อาศัยในชุมชนเดียวกัน จุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจการร่วมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เวลานี้พบว่าสหกรณ์จำนวนมากประสบปัญหาหนี้สินเป็นเหตุให้ต้องยุติการดำเนินกิจการ ซึ่งปัจจุบันสถาบันเจ้าหนี้อยู่ระหว่างฟ้องร้องดำเนินคดีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นคณะกรรมการสหกรณ์และสหกรณ์ฟ้องร้องสมาชิกเนื่องจากผิดสัญญาชำระหนี้เงินกู้ยืมกว่า 455 แห่ง และอยู่ระหว่างชำระบัญชี (เลิกสหกรณ์) กว่า 1,129 แห่ง จากข้อมูลที่จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวน 8,270 แห่ง

นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ในฐานะ อนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการศึกษาแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินสหกรณ์การเกษตร เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทางคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ที่มีนายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขปัญหาหนี้สินสหกรณ์การเกษตร มี พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ปฎิบัติหน้าที่เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเพื่อทำการศึกษา วิเคราะห์สถานการณ์ของสหกรณ์ที่เป็นลูกหนี้ของกองทุนพัฒนาสหกรณ์ จำนวน 19 แห่งในแต่ละภูมิภาคเพื่อจะได้รู้สภาพปัญหา สาเหตุและปัจจัยต่างๆเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในภาพรวมของประเทศต่อไป

ทั้งนี้ผลจากการศึกษา ในปี 2559 ประเทศไทยมีจำนวนสหกรณ์ที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ทั้งหมด 7 ประเภทสหกรณ์ รวมทั้งสิ้น 8,270 แห่ง มีสมาชิก 11.2 ล้านคน มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจำนวน 2.25 ล้านล้านบาท/ปี แยกเป็นสหกรณ์ที่มีสถานะดำเนินการจำนวน 6,851 แห่ง และสหกรณ์ที่มีสถานะเลิกสหกรณ์ จำนวน 1,129 แห่ง (ดูตามอินโฟกราฟิก)

สำหรับปัญหาที่นำไปสู่ภาระหนี้สิน มี 4 กรณี ได้แก่ 1.ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ 2.กรณีโครงการส่งเสริมและสนับสนุนจากรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง อาทิ การตลาดและช่องทางจัดจำหน่ายทำให้ผลกระทบตกอยู่กับสหกรณ์และสมาชิก 3.คณะกรรมการสหกรณ์ขาดความรู้ในการบริหารจัดการสหกรณ์ การตลาด และระบบการติดตามหนี้จากสมาชิก และ 4.กรณีการทุจริต

"ปัญหาดังกล่าวทางคณะได้มีข้อเสนอ อาทิ ปรับโครงสร้างหนี้สหกรณ์ใหม่ สถาบันเจ้าหนี้ควรมีแนวทางประนีประนอม ลด/งด เงินต้น ดอกเบี้ยและค่าปรับ เนื่องจากเป็นหนี้เกิดจากสุจริตและจำเป็น อาทิ ประสบภัยธรรมชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ดีทางสหกรณ์ได้เสนอให้รัฐช่วยเหลือ 2 แนวทาง คือ ปลดหนี้ทั้งจำนวน หรือขอชำระหนี้ต้นเงินเพียง 30% จะส่งผลต่อการฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์สามารถดำเนินธุรกิจเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้ต่อไป ทั้งนี้ทางคณะจะนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับสหกรณ์กว่า 1,129 แห่ง และจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ให้พิจารณาต่อไป"

แหล่งข่าวจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า สหกรณ์ที่มีปัญหาทุจริตและบกพร่องกว่า 1,000 แห่ง มีมูลค่าความเสียหายรวม 2.95 หมื่นล้านบาท อาทิ สหกรณ์ที่มีปัญหาทุจริต 277 แห่ง มูลค่าเสียหาย 1.87 หมื่นล้านบาท บกพร่องทางการเงิน 728 แห่ง มูลค่าเสียหาย 2,100 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้ทางรัฐมนตรีเคยมีนโยบายให้ยุบ/เลิก สหกรณ์ก่อนหน้านี้ แต่ถ้าจะมีการฟื้นฟูสหกรณ์เกรงว่ากลุ่มอื่นจะเลียนแบบและได้ไม่คุ้มเสีย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,250 วันที่ 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2560