ทักษิณต้องจ่ายภาษีแอมเพิลริช 1.7หมื่นล้านบาทหรือไม่?

04 เม.ย. 2560 | 03:30 น.
การที่เจ้าหน้าที่สาวของสรรพากรเขตบางพลัดนำหนังสือประเมินภาษีค่าปรับ และเงินส่วนเพิ่มรวม1.7 หมื่นล้านบาท ไปติดหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อวันที่ 27มีนาคมที่ผ่านมา เป็นการยืนยันว่าอายุความ ภาษีหุ้นแอมเพิลริชยังไม่สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม2560 ตามที่มีกระแสข่าวคาดเดาออกมาก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ คดีภาษีแอมเพิลริชหรือกรณีที่ พานทองแท้-พินทองทา 2 พี่น้องชินวัตร มีรายได้คนละ 7.9 พนั ล้านบาท จากการขายหุ้น บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่นให้เทมาเสก โฮลดิ้งส์ กองทุนใหญ่จากสิงคโปร์ ราคา 49.25 บาทต่อหุ้น คนละ 164,600,000 หุ้น (รวม 329,200,000 หุ้น) จากต้นทุนที่ซื้อมาราคาพาร์ 1 บาทต่อหุ้น จาก บริษัท แอมเพิลริชฯ(อดีตนายกฯทักษิณจดทะเบียนตั้งบริษัทที่บริติชเวอร์จิน) มีหน้าที่ต้องเสียภาษีหรือไม่? เป็นประเด็นโต้แย้งระหว่าง อดีตนายกฯทักษิณและครอบครัว กับรัฐ (บางช่วง) กรมสรรพากร และองค์กรอิสระ มาโดยตลอดนับจากอดีตนายกฯทักษิณขายอาณาจักรชินคอร์ป ให้เทมาเสกมูลค่ารวม 7.3 หมื่นล้านบาทเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 หรือเกือบ 10 ปีล่วงมาแล้ว

 10 ปี 7 รัฐบาล
ตลอดระยะเวลาเกือบทศวรรษที่ผ่านมา ทิศทางของคดีภาษีแอมเพิลริชผูกติดกับสถานการณ์การเมืองอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ช่วงรัฐบาลทักษิณหน่วยงานด้านภาษี และตลาดทุนออกมายืนยันโดยพร้อมเพรียงกันว่า บุคคลธรรมดาขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี แต่หลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549กรมสรรพากร ยุครัฐบาลพลอ.สุรยุทธ์ กลับประเมินว่า 2 พี่น้องมีภาระภาษีและเบี้ยปรับรวม 1.13หมื่นล้านบาท และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ตั้งขึ้น ยืนยันว่า 2 พี่น้องมีหน้าที่ต้องนำรายได้การขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเสก คนละ7.941 พันล้านบาท มาประเมินภาษี แต่ทว่าเมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว มาเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทิศทางคดีก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง (ดูรายละเอียดจากกราฟิก)

 สรรพากรและการเมือง
ลำดับข้อมูล ข้างต้นยืนยันว่า ท่าทีของกรมสรรพากรต่อคดีภาษีแอมเพิลริชในช่วงที่ผ่านมา ผูกติดกับสถานการณ์การเมืองโดยตรง ยิ่งหลัง ศาลภาษีอากรกลาง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ว่า2 พี่น้องชินวัตรไม่ใช่ผู้ถือหุ้นตัวจริง โดยอ้างจาก คำพิพากษาศาลแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (26 ก.พ.53) จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีกรมสรรพากรเหมือนยุติการทวงถามภาษีจากการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป งวดดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง

ตัวอย่างการพลิกไปมาของคดีภาษีหุ้นแอมเพิลริช คือช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ กรมสรรพากรเวลานั้น ได้อายัดทรัพย์ 2 พี่น้องจากกรณีภาษีแอมเพิลริชเอาไว้แต่เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้วเรื่องราวก็ต่างออกไป !!!

วันที่ 8 สิงหาคม 2554หรือ 3 วันหลัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สาธิตรังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากรขณะนั้น ออกมาแถลงว่า กรมสรรพากรไม่สามารถเก็บภาษีจาก อดีตนายกฯทักษิณ และ 2 พี่น้องได้โดยอ้างคำพิพากษาของศาลแผนกคดีอาญาฯและศาลภาษีอากรกลาง

ท่าทีของ กรมสรรพากรตอนนั้น มีผู้กังขาว่าเหตุใดธุรกรรมเปลี่ยนมือหุ้นชินคอร์ประหว่าง แอมเพิลริช กับ 2 พี่น้องที่ทำรายได้มหาศาลให้ 2 พี่น้องกรมสรรพากรจึงไม่เรียกเก็บภาษีกระทรวงการคลัง ถึงไม่อุทธรณ์และ ถ้ายึดตามคำพิพากษาของศาลแผนกคดีอาญาฯ เพราะเหตุใด กรมสรรพากรจึงไม่เรียกเก็บภาษี จากอดีตนายกฯทักษิณอีกทั้งปล่อยวางคดีภาษีแอมเพิลริชมาโดยตลอดเหมือนสิ้นสุดอายุความไปแล้ว กระทั่ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ออกมากระทุ้งให้รีบดำเนินการ ก่อนคดีหมดอายุความ และเป็นกระแสข่าวขึ้นมา

 อดีตนายกฯจะจ่ายภาษีมั้ย?
อย่างไรก็ดีแม้ กรมสรรพากรยุคนี้ หันมาเรียกเก็บภาษีแอมเพิลริชจาก อดีตนายกฯทักษิณ แทน 2 พี่น้องชินวัตรแต่โอกาสที่ อดีตนายกฯทักษิณจะชำระภาษีพร้อมค่าปรับก้อนดังกล่าว มีน้อยมาก เพราะอดีตนายกฯทักษิณ คงอ้างด้วยเหตุผลเดียวกับที่บุตรทั้ง 2 คน (พานทองแท้-พินทองทา) เคยอ้างมาตลอดว่า รัฐยึดทรัพย์ไปแล้ว 4.6หมื่นล้านบาทจะมาเรียกเก็บอีกได้อย่างไร?

สิ่งที่รัฐบาลจะได้ประการเดียวคือ ได้ต่ออายุคดีภาษีหุ้นแอมเพิลริชออกไป สภาพการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนคดีภาษีประวัติศาสตร์ หมุนเวียนกลับมานับหนึ่งอีกครั้ง เพียงเปลี่ยนผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษี จาก 2 พี่น้องมาเป็นชินวัตรผู้พ่อเท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,249 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2560