สสส.จับมือ 79 สถาบันอุดมศึกษาประกาศตัวห่างไกลสุรา

01 เม.ย. 2560 | 01:34 น.
สสส.จับมือ 79 สถาบันอุดมศึกษา ประกาศตัวห่างไกลสุรา ไม่เป็นเหยื่อการตลาดน้ำเมา หนุนพื้นที่สงกรานต์ปลอดเหล้าทั่วประเทศ

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก เปิดเผยว่า โครงการเครือข่ายอุดมศึกษา รู้เท่าทันปัญหาแอลกอฮอล์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)ทำโครงการ“79สถาบัน รู้ทันแอลกอฮอล์” โดยมีนักศึกษา อาจารย์ บุคลากร จาก 79 สถาบันการศึกษา ร่วมกันประกาศจุดยืนห่างไกลจากสุรา ไม่ตกเป็นเหยื่อการตลาดธุรกิจสุรา และจะสนับสนุนพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้าทั่วประเทศ

เยาวชน เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องสร้างภูมิเท่าทันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เท่าทันกลยุทธ์ธุรกิจสุราที่มองเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ทั้งนี้การดื่มของเยาวชน กลายเป็นนักดื่มอายุน้อยลง ดื่มประจำ ดื่มเร็ว ดื่มหนัก เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันร้านเหล้าเข้าถึงง่ายอยู่ใกล้สถานศึกษา ใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของนักศึกษาวิทยาลัยชุมชนแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ พบว่ามีนักศึกษาที่ดื่มสูงถึงร้อยละ89ของนักศึกษาทั้งหมด และ เมื่อสำรวจร้านจำหน่ายสุรารอบวิทยาลัยรัศมี3กิโลเมตร พบว่า มีมากถึง161ร้าน

“สำหรับกิจกรรมครั้งนี้เพื่อเป็นการเชิดชู79สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ที่ร่วมแรงร่วมพลัง ปกป้องเยาวชนไทยให้ห่างไกลจากสุรา ที่ผ่านมามีกิจกรรมเชิงรุกเกิดขึ้นกว่า 362 กิจกรรม นักศึกษาเข้าร่วมถึง567,300ราย ทั้งรณรงค์ในสถาบัน ชุมชน เฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมาย โดยได้รับความร่วมมือจากผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และสถาบันอย่างดียิ่ง ทั้งยังรวบรวมกิจกรรมเด่นๆ มานำเสนอไว้ในหนังสือ“10 เรื่องเล่า ม.ไม่เมา เราทำได้ “โดยประมวลจากการดำเนินงานของสถาบันการศึกษาที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นแนวทาง ดำเนินกิจกรรมกับสถาบันอื่นๆ เช่น “เปลี่ยนนักดื่มหน้าเก่า ให้กลายเป็นนักเล่าฝีปากกล้า” ในโครงการ“เล่าเลิกเหล้า”โดยนำนักดื่มที่เลิกเหล้ามาเล่าประสบการณ์ในงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ปัจฉิมนิเทศบัณฑิตใหม่ โดยมีตัวอย่างเรื่องเล่าที่สะเทือนใจคนฟังคือศิษย์เก่ารายหนึ่งตื่นเช้ามายังไม่สร่างเมาดีแล้วขับรถมาเรียนที่วิทยาลัยชุมชนแพร่ ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนต้องผ่าตัดสมองและสูญเสียดวงตาไปข้างหนึ่ง เป็นต้น

นายปิยวัชน์ คงอินทร์  หัวหน้าส่วนกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และหัวหน้าโครงการเครือข่ายอุดมศึกษา รู้เท่าทันปัญหาแอลกอฮอล์ภาคใต้ กล่าวว่า โครงการนี้ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เครือข่ายเพื่อนอาจารย์ แกนนำนักศึกษา สามารถต่อยอดนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ช่วยเหลือผู้อื่น ในการยับยั้งสุราปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สะท้อนจากร้านเหล้ารอบสถานศึกษาที่ยังน่าห่วง รวมถึงการฝ่าฝืนกฏหมาย ปล่อยให้เด็กเยาวชนเข้าไปใช้บริการ การใช้กลยุทธ์โฆษณา จูงใจส่งเสริมการขายที่ไร้คุณธรรม กลุ่มทุนสุรารุกคืบเข้ามาในรั้วสถาบันผ่านการให้ทุนทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ เครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้จะมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคีเครือข่าย องค์กรด้านเด็กเยาวชน เพื่อติดตาม เฝ้าระวังการทำผิดกฎหมายและประสานความร่วมมือทุกฝ่ายเพื่อป้องกันปัญหา โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานในพื้นที่ควรเข้ามาตรวจสอบควบคุม ให้ปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง และมีการกำกับติดตามในระดับนโยบาย

ขณะที่ รศ.ดร.คงศักดิ์ ศรีแก้ว รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวว่า เราได้ดำเนินงานบนความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษา12แห่ง ครอบคลุม9จังหวัด โดยได้สร้างแกนนำ อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา เน้นพัฒนาและเสริมศักยภาพ จากนั้นเชื่อมประสานการทำงานของบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย กับเครือข่ายงดเหล้าภาคเหนือตอนล่าง จัดรูปแบบเพื่อนำมาบูรณาการร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเทศกาลสงกรานต์ปีนี้เราขอสนับสนับพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยปลอดเหล้า และจะมีส่วนร่วมเฝ้าระวังการทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551อย่างจริงจัง เป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่ทั้งผู้ผลิตผู้จำหน่ายคือฝ่ายเดียวที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในทุกรูปแบบ ขณะที่ทุกภาคส่วนต่างทำงานกันอย่างหนักเพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดการเจ็บตายของผู้คน แต่เรายังมีมาตรการที่จัดการกับตัวการสำคัญนี้น้อยเกินไป