‘โฮมโปร’ พลิกวิกฤติภัยแล้งเป็นโอกาสทางธุรกิจ

04 เม.ย. 2560 | 01:30 น.
จากผลพวงของฤดูกาลแล้งของปีที่ผ่านมายังส่งผลถึงปีนี้ที่ทำให้สินค้าของโฮมโปรเกี่ยวกับการเก็บกักน้ำขายดีต่อเนื่อง แต่คงจะไม่มากเท่าปีที่ผ่านมา ดังนั้นกลยุทธ์กระตุ้นการขายของโฮมโปรในปีนี้จึงเข้มข้นไม่แพ้ปี 2559 อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ นายคุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ" มุมมองโอกาสและการรุกทางธุรกิจของโฮมโปรในปีนี้ว่า ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องโดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับนำไปใช้ในการปรับปรุงบ้านเก่า บ้านใหม่นอกเหนือจากสินค้าอื่นๆ โดยในช่วงนี้ยังเน้นสินค้าเกี่ยวกับการทำความเย็นประเภท เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น พัดลมไอน้ำ

 ภาพรวมตลาดปีนี้
ฤดูการขายช่วงหน้าร้อนปีนี้จะพบว่าเติบโตมากกว่า 50-60% จากปกติ โดยเฉพาะพัดลมไอน้ำจะขายดี ยังเชื่อว่ากลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำที่มีเงินในกระเป๋ายังมีความสามารถในการซื้อ แต่หากเศรษฐกิจดีความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจในการซื้อก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นคงต้องจับตาว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าจะได้รับการตอบรับที่ดีในช่วงนี้โดยกลุ่มเป้าหมายหลักยังเป็นลูกค้าที่ต้องการปรับปรุงบ้านเก่าและลูกค้าที่ปลูกสร้างบ้านใหม่จะมีความต้องการจัดหาสินค้าเข้าบ้านอย่างต่อเนื่อง

ขณะนี้ถือได้ว่ากำลังซื้อยังทรงตัว แทบไม่มีแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น ประกอบกับเทรนด์ของสินค้าจะออกสินค้าใหม่ให้สอดคล้องกับช่วงนั้นๆซึ่งการจัดงานโฮมโปรช่วงนี้ก็มีการออกสินค้าใหม่หลายรายการให้ตรงกับเทรนด์ตามความต้องการ

"ยอมรับว่ายอดการซื้อต่อบิลน้อยลง ช่วง 2-3 ปีก่อนนี้อยู่ในระดับบิลละ 2,500 บาท ขณะนี้ลดลงเหลือประมาณ 2,400 บาทต่อบิล ผลกระทบส่วนใหญ่เกิดจากภาวะภัยแล้ง ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ จนทำให้กำลังซื้อลดลงไป"

  ดึงดอยคำร่วม
โดยการจัดงานโฮมโปร เอ็กซ์โป ครั้งที่ 25 ได้ดึงผลิตภัณฑ์ดอยคำ ดอยตุง ของมูลนิธิโครงการหลวงมาเป็นไฮไลต์เช่นปีที่ผ่านมา เพราะเล็งเห็นว่ามีผลิตภัณฑ์หลายอย่างสามารถนำไปประกอบรวมในบ้านได้อย่างกลมกลืน การจัดงานแต่ละครั้งจะมีการโปรโมทให้แพร่หลายยิ่งขึ้น ไม่ได้กำหนดว่าทุกสาขาจะต้องมีผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิเสมอไป

  หวังรัฐช่วยกระตุ้นด้านใด
แนวทางหนึ่งรัฐควรเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในทุกๆด้านมากขึ้นและต่อเนื่องจะมีผลทางด้านจิตวิทยาในการจับจ่ายของประชาชนตามไปด้วย ตัวอย่างคือการโปรโมทด้านการท่องเที่ยวที่หลายส่วนจะได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย อยากให้รัฐเร่งขับเคลื่อนด้านอื่นควบคู่กันไปด้วย ดังนั้นโครงการภาครัฐที่เร่งดำเนินการอาจจะส่งผลบวกเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลทีเดียวครอยคลุมทุกด้าน

ประการสำคัญรัฐน่าจะกระตุ้นคอนซูเมอร์ให้มากขึ้น เช่นเดียวกับการส่งออก ไพรเวท อินเวสเมนต์ยังเกิดผลน้อยมาก ควรเปิดกว้างให้มากขึ้นในบางโอกาสได้ การซื้อขายจะมีโอกาสเติบโตมากขึ้นตามไปด้วยให้เกิดการจัดซื้อบ่อยครั้งมากขึ้น

"รัฐพยายามกระตุ้นโครงการช้อปช่วยชาติ นำไปลดภาษีได้ 1.5 หมื่นบาทก็มีผลอย่างมาก แต่ยังไม่ต่อเนื่อง ส่วนผลต่อโฮมโปรนั้นพบว่าปีที่ผ่านมายอดขายโต 8-9% ราว 9 หมื่นล้านบาท ผลกำไรเติบโต 18% ปีนี้คาดว่ายอดขายยังจะโตในเลขหลักเดียว ส่วนกำไรน่าจะยังเป็นตัวเลข 2 หลัก ดังนั้นจึงขอเป็นตัวเลขกลางๆในปีนี้ไว้ก่อน โดยช่วง 2 เดือนของปีนี้ตัวเลขกำไรยังน่าพอใจ แต่ยอดขายยังต้องกระตุ้นต่อเนื่อง"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,249 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2560