บุก “นางเลิ้ง” ความอร่อยข้ามเวลา

02 เม.ย. 2560 | 01:00 น.
แสงแดดที่ส่องสว่างแบบไม่ปราณีผิวภายนอกรถหรือจะสู้เสียงร้องครืนๆ ในท้องที่กำลังตื่นเต้นกับเรื่องราวความอร่อยที่เล่าขานกันแบบปากต่อปากของผู้นำทาง อาจารย์ณพัดยศ เอมะสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร วิทยากรประจำทริป KTC Press Club ของเราในครั้งนี้

MP32-3249-6 อาคารห้องแถวสไตล์ชิโนโปรตุเกส สีชมพูตัดแนวเส้นกรอบประตูหน้าต่างและลวดลายประดับด้วยสีขาว ซุ้มประตูทางตรงช่องตึกมีชื่อตัวโตๆ ว่า “ตลาดนางเลิ้ง” พาเราเข้าไปสู่อาณาจักรอาหารและขนมไทยต้นตำรับ ปล่อยให้หัวใจเดินตามการเรียกร้องของกลิ่นหอมๆ ที่ลอยมาสัมผัสที่ปลายจมูก เสียงทัพพีสัมผัสกับกระทะเหล็กใบเขื่อง ไอน้ำร้อนๆ ลอยฟุ้งขึ้นมาจากลังถึง เผยโฉมสาวงามในรูปของกระทงใบตองที่บรรจุขนมนานาชนิด

MP32-3249-4 ทำไมที่นี่ถึงชื่อ “ตลาดนางเลิ้ง” คำถามจากเพื่อนร่วมทริปสู่การไขคำตอบความเป็นมาของตลาดบกแห่งแรกของไทยที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปีว่า “นางเลิ้ง” มิได้เป็นชื่อคนอย่างที่พวกเราเข้าใจกัน แต่นางเลิ้งมากจากคำว่า “อีเลิ้ง” ซึ่งเป็นตุ่มชนิดหนึ่งของชาวมอญ ปั้นด้วยดินเผา มีความสูงราวฟุตเศษ และถูกใช้เป็นหนึ่งในมาตรวัดของเหลวสมัยก่อน อย่าง “ขนมจีนสองกระจาด น้ำยา น้ำพริก อย่างละ 1 เลิ้ง” เป็นต้น นอกจากนั้นที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของศาลพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือสมเด็จเตี่ย เนื่องจากตลาดนางเลิ้งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับ “วังนางเลิ้ง” วังที่ประทับของพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งพระองค์ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้นระหว่างที่พระองค์ทรงประทับตลอดพระชนมายุที่แห่งนี้ยังถูกดัดแปลงเป็นโรงเรียนนายเรือ เป็นผลให้ “ตลาดนางเลิ้ง” คือแหล่งเสบียงอาหารที่สำคัญที่สุดสำหรับเจ้านายจากวังนางเลิ้ง

MP32-3249-3 ความอร่อยที่ส่งต่อมาหลายชั่วอายุคนทำให้ที่นี้แม้จะมีการปรับเปลี่ยนรูปโฉมให้เข้ากับยุคสมัย แต่รสมือที่ไม่เคยเปลี่ยน ทำให้ตลาดนางเลิ้งยังคงชื่อเสียงการเป็นจุดนัดพบของอร่อยมากว่า 100 ปี

ส.รุ่งโรจน์ ร้านบะหมี่เป็ดที่เด็ดที่สุดในย่านนี้ ความนุ่มของเส้นบะหมี่และความอร่อยของเป็ดพะโล้ที่ต้มในหม้อต้มเครื่องยาที่มีหัวเชื้อยาวนานหลายสิบปี คือความหวานละมุนจนต้องร้องขอเป็นเพิ่มอีกหนึ่งจาน ด้วยพิกัดของตลาดนางเลิ้งที่อยู่ไม่ไกลจากทำเนียบรัฐบาล ส.รุ่งโรจน์ จึงกลายเป็นร้านประจำของคนดังหลายๆ คน เรียกได้ว่ามาทานบะหมี่ร้านนี้นั่งเก้าอี้เดียวกับผู้นำประเทศเลยก็ว่าได้

MP32-3249-2 จบของคาวต้องต่อด้วยของหวานแบบทันทีทันใด แต่จะทำอย่างไรได้เนื่องจากที่นี่อุดมไปด้วยขนมไทยละลานตาจนเลือกไม่ถูก พอได้เห็นขนมถ้วยของโปรดเพิ่งออกจากเตา ถ้วยร้อนๆ กับกะทิที่กำลังเซ็ตตัว เลยขอหยุดที่หน้าร้านประเดิมถ้วยแรกจากเตาแบบฟินสุดๆ บอกเลยว่าไม่มีที่ไหนในโลกที่กะทิจะดูเอ็ตกับใบเตยได้ลงตัวเท่าขนมถ้วยที่ร้านขนมถ้วยตะไลมณฑา เลยไปอีกนิดเห็นคนกำลังมุงอยู่หน้ากระจก ขนมกล้วยในถ้วยกระทงใบตองเล็กๆ กำลังถูกจับของจนเกือบหมดแผง ด้วยแรงทั้งหมดที่ได้จากบะหมี่และขนมถ้วยจ้ำอ้าวไปที่ร้านขอเหมาขนมกล้วยทั้งหมดพร้อมของแถมร้อยยิ้มเต็มถุงจากพี่นันท์-นันทา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา เจ้าของร้านนันทาขนมไทย ผู้สืบทอดรสชาติต้นตำรับจากคุณปู่ - หม่อมหลวงจันทร์ ต้นเครื่องวังหลังยาวนานมากว่าครึ่งศตวรรษ พี่นันท์เริ่มขายขนมไทยนานาชนิด ทั้ง ขนมกล้วย ขนมมัน ขนมตาล ขนมฟักทอง ขนมเผือก และอื่นๆ อีกมากมายตั้งแต่อายุ 17 จากขนมชิ้นละ 1 สลึง (25 สตางค์) มาจนถึงชิ้นละ 4 บาท ความเป็นคนช่างสังเกตและปรับเปลี่ยนรสชาติไปตามรสปากที่นิยมของคนแต่ละยุคสมัยทำให้ร้านนันทาขนมไทยครองใจเราจนขอซื้อขนมที่เหลือทั้งหมดกลับบ้านไปอีกหลายถุง

MP32-3249-5 “จะทำอะไรเราต้องซื้อสัตย์ ทำขนมเราก็ต้องซื่อสัตย์กับวัตถุดิบทุกอย่าง กล้วยที่ใช้ต้องสุกพอดี ไม่ห่ามเกินไปหรืองอมเกินไป ถ้าห่ามมากจะฝาด ถ้างอมมากจะคาว มะพร้าวต้องใช้มะพร้าวทึนทึก น้ำตาลโตนดก็ต้องมาจากเพชรบุรี ขนมไม่ค้างคืน จะอยู่ได้กี่วันต้องบอกลูกค้าไปตามตรง”

ปรัชญาชีวิตจากพี่นันท์ ไม่เพียงทำให้เราอิ่มในรสอร่อย แต่ยังอิ่มกับความคิดและคำสอนให้รู้ว่ากล้วยหนึ่งผลก็สะท้อนความสมบูรณ์ของทั้งกระบวนการได้เช่นกัน

ทางเดินข้างหน้ายังมือขนมรออีกมากมาย ตามต่อกันในเรื่องราวจากนางเลิ้งฉบับหน้านะคะ วันนี้ขอไปแกะใบตอง นั่งดูการจัดเรียงของผิวมะพร้าวบนขนมกล้วยให้เต็มตา ท่านใดรอไม่ไหวขอแนะนำให้ออกบ้านไปนางเลิ้งตอนนี้เลยค่ะ
ปล. ช่วงเวลาที่จะทำให้คุณไม่พลาดของอร่อย ขอแนะนำให้ไปช่วง 10.00 – 14.00 น. วันธรรมดา เลยเวลาไปมีเจอขนมหมดตู้ตลาดวายแล้วแน่นอนค่ะ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,249 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2560