ถอดรหัสคลื่น 2300 หลังเอกชน 6 รายยื่นข้อเสนอทีโอที

04 เม.ย. 2560 | 05:00 น.
แม้คลื่น 2300 เมกะเฮิตรซ์ ที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดให้คู่ค้าทางธุรกิจยื่นข้อเสนอเพื่อร่วมบริหารจัดการไปแล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมามีผู้สนใจทั้งสิ้น 6 ราย อันได้แก่ บริษัท ไฮมีเดีย เทคโนโลยี จำกัด , บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เครือเอไอเอส , บริษัท โมบาย แอลทีอี จำกัด , บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เครือดีแทค , บริษัท ทานตะวัน เทเลคอมมูนิเคชั่น จำกัด และ บริษัท TUC RMV for 2300 MHz Consortium

หากแต่โมเดลแตกต่างจากกรณี ของ กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) นำคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ออกมาประมูล เนื่องจากหมดสัญญาสัมปทาน และ นำคลื่นความถี่ส่งกลับมาให้ กสทช. เพื่อออกมาประมูลได้เงินเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 151,942 ล้านบาท

ขณะที่คลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์นั้น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถือครองอยู่ 60 เมกะเฮิรตซ์ สิ้นสุดสัญญาตามใบอนุญาตในปี 2568

ย้อนรอย

เป็นเพราะ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานจาก ทีโอที เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 900 หมดอายุสัญญาลงเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558

นั้นจึงเป็นที่มาที่ ทีโอที นำคลื่นที่มีอยู่ออกมาบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ได้มีข้อตกลงร่วมให้ เอไอเอส เข้ามาโรมมิ่งสัญญาณ และ แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

ส่วนคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์นั้นใช้วิธีให้ผู้สนใจเข้ามาเป็นคู่ค้าทางธุรกิจเพื่อให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์

กว่ามาถึงจุดนี้ได้ ต้องฝ่าด้าน กสทช.ในฐานะเจ้าของคลื่น เนื่องจาก ทีโอที นำคลื่นมาใช้ประโยชน์น้อยมาก เนื่องจากหน้าที่หลัก คือ ให้บริการสาธารณะโทรศัพท์พื้นฐาน และ โทรศัพท์สาธารณะ และคลื่นนี้ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใด

แม้ที่ประชุม กทค.(คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) อนุมัติแผนปรับปรุงคลื่นความถี่ แต่ก็มีมติให้สำนักงาน กสทช.ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการทำงานของทีโอทีด้วยว่าสามารถดำเนินงานได้ตามแผนที่เสนอหรือไม่ และต้องไม่ขัดต่อกฎหมายของ กสทช.

ผ่าคลื่น 2300

สำหรับคลื่นความถี่ที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน ประกอบด้วยคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นที่ส่งสัญญาณได้ไกลกว่า 3 เท่า เนื่องจากความถี่ที่เป็น Low band ประหยัดต้นทุนกว่า สามารถให้บริการได้ในระบบ 2 จี และ 4 จี
ขณะที่คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ต้องวางเสาสัญญาณมากกว่าถึง 3 ต้น ให้บริการได้ทั้ง 3 จีและ 4 จี สามารถนำมาใช้งานกับเทคโนโลยี LTE หรือ Long Term Evolution นอกจากนี้ LTE ยังสามารถนำไปประยุกต์เพื่อสร้างเทคโนโลยีใหม่ได้อีกหลายตัวเช่น VoLTE หรือ Voice Over LTE ที่ ดีแทค กำลังจะเปิดให้ทดลองใช้ในไทย

ส่วนคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นความถี่สูงแม้ว่าจะต้องตั้งเสาสัญญาณเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าคลื่นนั้นไม่ได้ไปไกลเหมือนเดิม แต่ความทะลุทะลวงภายในอาคาร ห้างสรรพสินค้า ใช้งานได้ดี

ว่าด้วยเรื่องคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ ใช้เทคโนโลยี 4จี LTE ( Long Term Evolution) รองรับทั้งอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (Wireless Broadband :WBB) แบบประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และ โมบาย บรอดแบนด์ (Mobile Broadband) ความเร็วสูงสุด 100 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps)

 เผยแผนธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ในปีแรกติดตั้งไม่น้อยกว่า 1,800 แห่ง แลภายใน 2 ปีโครงข่ายต้องครอบคุลมเมืองหลัก และภายใน 5 ปี จะสามารถขยายโครงข่ายได้ครอบคลุมตามแผน

สำหรับรูปแบบ บริการเป็น 3 รูปแบบคือ 1.บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (Wireless Broadband : WBB) 20% กลุ่มลูกค้าครัวเรือนในชานเมือง และพื้นที่ห่างไกล เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐในการให้ประชาชนได้มีโอกาสในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเท่าเทียม โดยจะใช้แบนด์วิธทั้ง 60 เมกะเฮิรตซ์ ของคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์, 2.บริการโมบายบรอดแบนด์ (Mobile Broadband : MBB) 20% กลุ่มเป้าหมาย ลูกค้าทีโอที โดยจะให้บริการในเขตเมือง และเขตชานเมือง ผ่านอุปกรณ์ดองเกิล (Dongle) สำหรับลูกค้าใหม่ และซิมการ์ดเสริม สำหรับลูกค้าบรอดแบนด์เดิม และ 3.บริการขายส่ง (Wholesale) ให้กับผู้ประกอบการโมบาย จำนวน 60%

รอลุ้นไตรมาส 3 ใคร? จะได้เป็นคู่ค้าตัวจริงเสียงจริง คลื่น 2300 ครั้งนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,249 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2560