รัฐยันมีหน่วยงานกำกับ ไม่ต้องตั้ง NOC มาซ้ำซ้อน

02 เม.ย. 2560 | 05:00 น.
ยังเป็นประเด็นร้อนสำหรับข้อถกเถียงถึงการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติหรือ NOC ซึ่งได้บรรจุอยู่ในมาตรา 10/1 ของพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาไปเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งระบุให้มีการจัดตั้งเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินงานจัดตั้ง

โดยเฉพาะกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) พยายามกดดันให้มีการจัดตั้ง NOC ขึ้นมาโดยเร็ว เพื่อนำมาใช้กับการบริหารจัดการกับการเปิดประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ ที่จะหมดอายุในช่วงปี 2565-2566 เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายเดิมที่มีอยู่ เป็นการเปิดช่องให้กับผู้สัมปทานรายเดิมเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ กอบโกยทรัพยากรของประเทศ และรัฐได้ผลตอบแทนที่ต่ำ เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียได้มีการนำ NOC มาใช้ในการบริหารทรัพยากรของประเทศ

  ตั้ง NOC รวบอำนาจ
ในขณะที่หลายฝ่ายทั้งภาคเอกชนและนักวิชาการ ต่างเห็นสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันว่า การตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพื่อรองรับระบบแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซีและระบบจ้างผลิตหรือเอสซี จะทำให้ประเทศถอยหลังลงคลอง เป็นการรวมอำนาจบริหารเบ็ดเสร็จอยู่ในมือรัฐ ทำให้ขาดประสิทธิภาพการดำเนินงาน เนื่องจากภารกิจของ NOC จะเข้าไปเป็นเจ้าของแหล่งสัมปทาน หรือเข้าไปถือหุ้นบางส่วนในแหล่งปิโตรเลียม ที่จะต้องมีการลงทุนในรูปของตัวเงินทั้งช่วงการสำรวจและผลิต ข้อดีคือรัฐจะได้รับผลตอบแทนในกรณีที่การผลิตปิโตรเลียมประสบความสำเร็จ แต่ก็มีข้อเสียรัฐต้องรับความเสี่ยงด้านการลงทุน กรณีที่ไม่สามารถขุดเจาะพบปิโตรเลียม รัฐต้องเสียเงินลงทุนโดยเปล่าประโยชน์ และจะนำงบประมาณจากไหนมาลงทุน

  ไทยไม่เหมาะมีบรรษัท
ดังนั้น การจะจัดตั้ง NOC ขึ้นมาจะเร็วหรือช้า จึงไม่มีความจำเป็น เพราะทุกวันนี้ มีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (กช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คอยทำหน้าที่ดูแลในการบริหารทรัพยากรด้านปิโตรเลียมอยู่แล้ว ในขณะที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ.ก็ทำหน้าที่ในการลงทุนขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม และมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ค้าและจัดจำหน่ายปิโตรเลียมอยู่แล้ว ประกอบกับโครงสร้างทางธรณีวิทยาของแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย ก็ไม่ได้มีขนาดใหญ่เป็นแอ่งกระทะ เหมือนกับประเทศผู้ส่งออกปิโตรเลียม อย่างซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่เป็นเพียงกะเปาะเล็กๆ การเข้ามาลงทุนของภาครัฐจึงมีความเสี่ยงที่จะใส่เงินลงทุน

 ปตท.ทำหน้าที่ดีอยู่แล้ว
มุมมองของนายฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ อาจารย์หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า การจะตั้ง NOC ไม่มีความเหมาะสมกับประเทศไทย เพราะแหล่งปิโตรเลียมที่จะลงทุนในการขุดเจาะมีความเสี่ยง และการเข้ามาบริหารจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น จากการเข้ามาเป็นคนกลางทั้งการลงทุนและการซื้อขาย ซึ่งปัจจุบันกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และปตท.ทำหน้าที่นี้ดีอยู่แล้ว ประกอบกับไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงาน การผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศ ได้ในปริมาณเท่าใด ทาง ปตท.ก็รับซื้อหมด แม้จะตั้ง NOC ขึ้นมาขึ้นมา ท้ายที่สุดก็ต้องขายให้กับ ปตท. ดังนั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นในการตั้งแต่อย่างใด

  มีโครงสร้าง NOC อยู่แล้ว
ขณะที่นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(กช.) ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันประเทศมีโครงสร้างที่มารองรับระบบพีเอสซีและเอสซี อยู่แล้ว ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เสมือนเป็น NOC มีการแบ่งแยกภาระกันที่ชัดเจนและมีการคานอำนาจ ตรวจสอบเพื่อไม่ให้เป็นการรวมอำนาจ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะทำหน้าที่ในการกำกับดูแล ที่รับนโยบายโดยตรง จากระทรวงพลังงาน ที่ส่งต่อมาจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และจากคณะรัฐมนตรี

ส่วนปตท.สผ. และบริษัทอื่นๆ จะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินงานในการผลิต ที่เปิดให้มีการแข่งขัน และพร้อมรับความเสี่ยงในด้านการลงทุนเอง ถือเป็นข้อดีที่รัฐไม่ต้องรับความเสี่ยงของธุรกิจ แต่สามารถรับผลประโยชน์ที่ขัดเจน ในรูปของค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่ปัจจุบันนำส่งรัฐเป็นอันดับ 4 ของประเทศ ประมาณ 2.4 แสนล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ยังมีบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่ เป็นผู้จัดส่งขายและผู้ค้า ถูกกำกับโดยกกพ. เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ และยังเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม

ดังนั้น การตั้ง NOC ขึ้นมา จะเป็นการวมอำนาจทั้ง 3 หน่วยงานเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนกับภารกิจของหน่วยงานที่มีอยู่ และจะนำไปสู่การผูกขาด และไร้ประสิทธิภาพการดำเนินงานในที่สุด โดยเฉพาะการดูแลงบประมาณในการลงทุน หากต้องใช้เงินในการขุดเจาะสำรวจประมาณ 100 ล้านบาทต่อหลุม ขุดเจาะแล้วไม่พบปิโตรเลียม เงินลงทุนที่สูญเปล่ารัฐพร้อมที่จะรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่

  เสนอศึกษาให้รอบครอบ
สุดท้ายหากจะต้องตั้ง NOC จริง รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เสนอว่า จะต้องมีการศึกษาให้รอบครอบทั้งผลดีและผลเสีย โดยเฉพาะการกำกับไม่ให้เกิดการรวบอำนาจในการบริหารปิโตรเลียม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดอันนำมาซึ่งการไร้ประสิทธิภาพและความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่ โดยให้การศึกษาคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง บทบาทหน้าที่ ภารกิจ โครงสร้างองค์กร รูปแบบการบริหาร และการได้มาของงบประมาณและรายจ่าย และบุคลากร ที่สำคัญจะต้องมีการร่างพ.ร.บ.การจัดตั้งมารองรับในการดำเนินงานของหน่วยงานด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ไม่ใช่เพียงตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะอาศัยช่องโหว่ ในการแสวงหาผลประโยชน์เท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,249 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2560