ลุ้นนายกฯเคาะต่ออายุเงินกู้ยาง

02 เม.ย. 2560 | 02:00 น.
สศก. รอนายกฯ เคาะวันประชุม กนย. ส่งสัญญาณชาวสวนลุ้นข่าวดีต่ออายุเงินกู้ เกษตรกร-ผู้ส่งออกลุ้น กยท.เสนอครม.เห็นชอบจัดเก็บเซสส์อัตราคงที่ 2 บาท/กก. หนุนมาถูกทาง “ธีธัช”ยันเดินหน้าระบายยางต่อ ชี้ช่วงเหมาะสม ไม่กระทบชาวสวน

สืบเนื่องจากระยะเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางวงเงิน 1 หมื่นล้านบาทของรัฐบาลได้สิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้มีสหกรณ์ /กลุ่มเกษตรกร ได้รับอนุมัติเงินกู้ไปแล้ว 366 แห่ง โดยเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 5,916 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ เวลานี้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากจะไม่มีเงินมาหมุนเวียนในการรับซื้อผลผลิตในฤดูเปิดกรีดยางในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ เพราะหากไม่ขยายระยะเวลาจะต้องทยอยชำระหนี้คืนแก่ ธ.ก.ส.

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าในเร็วๆ นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ คาดจะประชุมก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ สาระสำคัญคาดจะมีเรื่องการพิจารณาขยายระยะเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรด้วย รวมถึงการคาดการณ์ผลผลิต และแนวโน้มการส่งออกยางพาราในปี 2560 เป็นต้น

ขณะที่นายวรเทพ วงศาสุทธิ ประธานกรรมการบริษัท และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) และนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า เห็นด้วยที่ทาง กยท. จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออกยางอัตราคงที่ 2 บาท เพราะผู้ส่งออกยางพารา จะได้ทราบถึงต้นทุนที่แท้จริงและมีความมั่นใจต่อการเสนอราคาซื้อขาย โดยเฉพาะการซื้อขายล่วงหน้า รวมทั้งสามารถวิเคราะห์คำนวณการชำระค่าธรรมเนียมได้ทันที ลดความยุ่งยากในการยื่นเอกสารการส่งออก เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตก็เคยทำมาแล้ว

ด้านนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยถึงการดำเนินงานของ กยท.ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2560 (ณ 30 มี.ค.60) ว่า กยท.ได้ดำเนินการระบายยางในสต๊อกไปแล้วกว่า 1.5 แสนตัน ซึ่งที่ผ่านมาประมาณ 5 ปี รัฐบาลต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเช่าโกดังเก็บทั้งปี ประมาณ 160 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวม ประมาณเกือบ 1,000 ล้านบาท ยืนยันว่าการประกาศระบายยางในสต๊อกจะคำนึงถึงช่วงที่เหมาะสม เช่นได้ระบายในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ภาคใต้น้ำท่วม ทำให้ปริมาณผลผลิตยางลดลง และช่วงที่เหมาะสมอีกช่วงคือ กุมภาพันธ์-เมษายน ซึ่งเป็นฤดูกาลสุดท้ายของการเก็บเกี่ยวผลผลิต แนวโน้มผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง อย่างไรก็ดี หากจัดการยางในสต๊อกได้ทั้งหมดจะช่วยให้อนาคตการซื้อขายยางเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,249 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2560