การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าจีน

02 เม.ย. 2560 | 13:00 น.
รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles : EVs) ประกอบด้วย 3 ประเภทหลักๆ คือรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle หรือ BEV) รถยนต์ไฟฟ้าเสียบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle หรือ PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle หรือ FCEV) ตัวเลขล่าสุดของ IEA (International Energy Agency) รายงานว่าในปี 2558 ทั่วโลกสามารถผลิตรถยนต์ BEV (7 แสนคัน) กับรถยนต์ PHEV (5 แสนคัน) รวมทั้งหมดจำนวน 1.2 ล้านคันทั่วโลก (วัดจาก Global Electric Car Stock) และในปี 2559 มีจำนวนการผลิต 1.4 ล้านคันทั่วโลก

ในปี 2558 สหรัฐฯ มีจำนวนการผลิตของรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลกจำนวน 4 แสนคัน แยกเป็นรถยนต์ PHEV และรถยนต์ BEV อย่างละครึ่ง ตามด้วยการผลิตของจีนจำนวน 3 แสนคัน (เป็นรถยนต์ BEV จำนวน 225,732 คัน ที่เหลือเป็น PHEV) ตามด้วยญี่ปุ่น นอรเวย์ ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมัน ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจจุบันประเทศจีนจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาก็ตาม แต่หากพิจารณาการขายรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศต่างๆ จีนถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลก และหากพิจารณาเฉพาะรถยนต์ปลั๊กอินในปี 2559 การผลิตรถยนต์ประเภทนี้ จีนได้แซงหน้าประเทศสหรัฐฯ ไปเรียบร้อยแล้ว โดยจีนผลิต 3.5 แสนคัน ส่วนสหรัฐฯ ผลิต 1.5 แสนคัน และยุโรปจำนวน 2.2 แสนคัน (ที่มา : EVvoluumes.com)

สำหรับประเทศจีนนั้น รถยนต์ไฟฟ้าถือได้ว่าเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 (The 13th Five-Year Plan For Economic and Social Development of the People’s Republic of China, 2016-2020) และรัฐบาลกำหนดให้นโยบายรถยนต์ไฟฟ้าเป็นพาหนะพลังงานทางเลือกใหม่ (New Energy Vehicle : NEV) ของประเทศ

โดยในปี 2559 จีนสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นทุกประเภทเป็นจำนวน 4.8 แสนคัน (มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 1 ล้านคัน) และสิ้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 หรือใน ปี 2563 จีนตั้งเป้าหมายว่าจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทให้ได้จำนวน 5 ล้านคัน

การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีนนั้นได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2533 โดยรัฐบาลจีนจัดสรรงบประมาณจำนวน 1.5 พันล้านเหรียญเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมทำการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่ปัญหาหลักในยุคแรกๆ ของการพัฒนาคือการขาดเทคโนโลยี่และสถานีชารต์ไฟฟ้า ความสำเร็จในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าจีนที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดคงเป็น กรณีของการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทรถยนต์รายใหญ่ของจีนที่ชื่อ “BYD Auto” ซึ่งมาจาก “Build Your Dream” มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซี่อาน (Xi An) มณฑลซานสี่ (Shaanxi) บริษัทนี้ตั้งเมื่อปี 2538 นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และนครฉางซา (Changsha) ในมณฑลหูหนาน (Hunan)

รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2551 เป็นรถยนต์แบบ BEV เพราะเดิม BYD เป็นบริษัทที่ผลิตแบตเตอรี่อยู่แล้ว (แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่บริษัทจีนผลิตในขณะนี้มีอยู่ 4 ประเภทคือ “Lithium Iron Phosphate”, “Lead Acid”, “NiMH” และ “Lithium-ion”) ต่อมาบริษัท BYD ต้องการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบจึงได้มีการร่วมทุนกับบริษัท “Daimler AG” ของเยอรมนีด้วยสัดส่วนการลงทุน 50 ต่อ 50 เพื่อร่วมกันผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ PHEV
จึงมีการตั้งบริษัทแห่งใหม่ชื่อว่า “Shenzhen BYD Daimler New Technology” ตั้งอยู่ที่เมืองเสินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง (Guangdong) ตั้งเมื่อ วันที่ 27 พฤษภาคม 2543 ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ที่ชื่อว่า “Denza” มีสัญลักษณ์เป็น “รูปหยดน้ำ” ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินคันแรกของจีน มีการเปิดตัวครั้งแรกที่งาน “Beijing Auto Show” เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557

[caption id="attachment_137866" align="aligncenter" width="503"] การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าจีน การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าจีน[/caption]

ปัจจุบัน BYD ได้กลายผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก หลักๆ คือผลิต PHEV และยังผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เรียกว่า “Dual Mode” เป็นรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนได้ 2 แบบคือ การขับแบบ EV ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าและแบบที่ 2 HEV (Hybrid Electric Vehicle) ใช้ทั้งไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิง บริษัท BYD ยังมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอีก 20 โรงงานด้วย นอกจากบริษัท BYD แล้ว ยังมีบริษัทรถยนต์จีนที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ได้แก่ Geely และ BAIC ที่ผลิตรถบรรทุกไฟฟ้า

การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีนได้เติบโตอย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จได้เพราะรัฐบาลจีนมีโยบายชัดเจนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและได้ตั้งเป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นผู้นำในการผลิตรถภยนต์ไฟฟ้าของโลก เพื่อให้ถึงเป้าหมายข้างต้น รัฐบาลจีนมีนโยบายการพัฒนาเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี 2553 รัฐบาลจีนได้สร้างแรงจูงใจให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตเพื่อให้หันมาให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้า โดยให้ส่วนลดถึง 6 หมื่นหยวนสำหรับรถยนต์ BEV (ซึ่งราคาหลังจากลดแล้วอยู่ที่ 6 หมื่นหยวน หรือเหลือคันละ 3 แสนบาท) และ 5 หมื่นหยวนสำหรับรถยนต์ PHEV นอกจากนี้ยังมีนโยบายด้านภาษี (Tax Incentive)
สำหรับโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และนโยบายสนับสนุนด้านราคา (Price Subsidies) โดยรัฐบาลกำหนดให้บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขายรถยนต์ให้ผู้บริโภคในราคาต่ำแล้วรัฐบาลจ่ายส่วนต่าง บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขายรถยนต์ราคาถูกให้กับบริษัทเช่ารถยนต์แล้วรัฐบาลจ่ายส่วนต่าง

นอกจากนี้ยังสนับสนุนเงินให้กับบริษัทแบตเตอรี่ ซึ่งนโยบายข้างต้นเป็นการทำงานร่วมกันของกระทรวงหลัก 4 กระทรวงคือ ก.การคลัง ก.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก.อุตสาหกรรม และ IT และคณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติ

ระยะที่ 2 ให้มณฑลต่างๆ มีแผนผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น รถบัสและรถแทกซี่ เป็นต้น โดยกำหนดให้มณฑลเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ “Ten Cities with Thousands of EVs” ปัจจุบันมีทั้งหมด 25 มณฑลที่เข้าร่วม ส่วนใหญ่เป็นมณฑลทางด้านตะวันออก และชั้นในถัดมา

ระยะที่ 3 กำหนดให้มณฑลต่างๆ จัดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลจีนได้จัดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าไปแล้ว 1 แสนสถานี (ปักกิ่งและเสินเจิ้นอย่างละ 2 หมื่นสถานี)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,249 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2560