๖๒ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักพัฒนา หยาดฝนที่ชุ่มเย็นของแผ่นดิน

02 เม.ย. 2560 | 01:00 น.
P29-3249-a "เพราะตั้งแต่เกิดมาจำความได้ ก็เห็นทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงคิดหาวิธีต่างๆ ที่จะยกฐานะความเป็นอยู่ของไทยให้ดีขึ้น เมื่อโตขึ้นมา พอมีแรงทำอะไรได้ ก็ทำไปอย่างอัตโนมัติ โดยทำตามพระราชกระแสหรือทำตามแนวพระราชดำริ การช่วยเหลือประชาชนเป็นหน้าที่ของสถาบันพระมาหกษัตริย์ ต้องทำเป็นประจำอยู่แล้ว"

P29-3249-c พระราชดำรัสในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานเป็นพิเศษแก่ข้าราชการสำนักงานเลขานุการ กปร. (ชื่อหน่วยงานของสำนักงาน กปร. ในขณะนั้น) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นที่ประจักษ์ชัดถึงแรงบันดาลพระราชหฤทัยที่ได้ทรงดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทพระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และพระราชมารดา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินบรมราชชนนี ในการช่วยเหลือและพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรทั่วภูมิภาคของประเทศ และได้ก่อให้เกิดงานโครงการพัฒนาในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหามภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ อีกทั้งยังสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลอีกด้วย

ภาพที่ประชาชนชาวไทยเห็นจนชินตา คือเจ้าหญิงที่ทรงแต่งกายทะมัดทะแมง พร้อมกระเป๋าหนังสีดำใบโต และพระหัตถ์ที่ทรงจดบันทึกเรื่องราวตลอดการปฏิบัติพระราชกรณียกิจเคียงพระราชบิดา พระราชมารดา และพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์

ย้อนไปราว ๖๐ ปีก่อน ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้เขียนบันทึกเรื่องราวของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ว่า

“ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงน้อย ไม่ค่อยจะประทับอยู่นิ่งนัก อันเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ถ้าไม่มีหนังสือหรือสมุดดินสออยู่ตรงพระพักตร์ ผู้ที่อยู่ใกล้ต้องมีความว่องไวเป็นพิเศษ”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเริ่มอ่านภาษาไทยตั้งแต่ทรงมีพระชนมายุเพียง ๕ พรรษาเศษ และโปรดการอ่านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทรงเพลิดเพลินกับเรื่องราวหลากหลายที่ทรงได้รับจากการอ่าน โปรดการศึกษาวรรณคดีทั้งของไทยและต่างประเทศ เป็นผลให้ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการประพันธ์มาตั้งแต่ทรงเป็นนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา นอกจากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ยังทุ่มเทพระวิริยะอุตสาหะศึกษาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาบาลีสันสกฤต และภาษาเขมร อย่างแตกฉาน เกิดเป็นพระราชนิพนธ์ร้อยกรองภาษาไทยจำนวนกว่าร้อยบท และร้อยแก้วทั้งในรูปบทความและหนังสือจำนวนนับร้อยเรื่องหลายเล่มพระราชทานให้วางจำหน่ายเพื่อนำเงินมาให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก

“การออกไปพัฒนานั้นเป็นเรื่องสนุก เป็นการท้าทายสติปัญญาว่าถ้ามีโจทย์คือปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ก็ต้องพยายามหาข้อเฉลย คือ วิธีแก้ปัญหา ซึ่งบางครั้งก็กินเวลานานกว่าจะคิดออก”

การทรงงานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระองค์ทรงยึดแนวทางตามแบบพระราชบิดา คือ เน้นความเรียบง่ายและสอดคล้องกับสภาพสังคมนั้นๆ และในทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียนต่างๆ ในท้องถิ่นทุรกันดาร พระองค์มิได้ทรงเยี่ยมราษฎรเท่านั้น แต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ยังทรงนำทฤษฏีและการเรียนรู้ต่างๆ ที่เรียกว่า “ทฤษฏีทางการศึกษาเฉพาะพระองค์” เข้าไปผสมผสานในหลายประเภท อาทิ ด้านโภชนาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่พระองค์สนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ เนื่องจากทรงเห็นว่าโภชนาการเป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ประกอบกับในการเสด็จฯ ออกไปเยี่ยมเยียนราษฎรในจังหวัดต่างๆ ได้ทรงพบเห็นเด็กและเยาวชนในวัยก่อนเรียนและในวัยหลังเรียนเป็นจำนวนมากที่เป็นโรคขาดสารอาหารชนิดต่างๆ จึงทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้นได้รับอาหารที่เพียงพอ และเหมาะสมกับความต้องการของร่างกายของแต่ละคน นับแต่นั้นมา โครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจึงได้ริเริ่มขึ้น กระจายสู่การพัฒนางานด้านต่างๆ สานต่อพระราชปณิธานดำเนินรอยตามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รอยพระบาทที่ปลูกความเจริญอย่างยั่งยืนบนผืนแผ่นดินไทย

P29-3249-b “ฉันเดินตามรอยเท้าอันรวดเร็วของพ่อโดยไม่หยุด ผ่านเข้าไปในป่าใหญ่ น่ากลัว ทึบ แผ่ไปโดยไม่มีที่สิ้นสุดมืดและกว้าง มีต้นไม้ใหญ่ เหมือนหอคอยที่เข้มแข็ง พ่อจ๋า…ลูกหิวจะตายอยู่แล้วและเหนื่อยด้วย ดูซิจ๊ะ…เลือดไหลออกมาจากเท้าทั้งสองที่บาดเจ็บของลูก ลูกกลัวงู เสือ และหมาป่า พ่อจ๋า…เราจะถึงจุดหมายปลายทางไหม?”

“ลูกเอ๋ย…ในโลกนี้ไม่มีที่ไหนดอกที่มีความรื่นรมย์และความสบายสำหรับเจ้า ทางของเรามิได้ปูด้วยดอกไม้สวยๆ จงไปเถิด แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งบีบคั้นหัวใจเจ้า พ่อเห็นแล้วว่า หนามตำเนื้ออ่อนๆ ของเจ้า เลือดของเจ้าเปรียบดั่งทับทิมบนใบหญ้าใกล้น้ำ น้ำตาของเจ้าที่ไหลต้องพุ่มไม้สีเขียวเปรียบดั่งเพชรบนมรกตที่แสดงความงามเต็มที่เพื่อมนุษยชาติ… จงอย่าละความกล้าเมื่อเผชิญกับความทุกข์…ให้อดทนและสุขุม และจงมีความสุขที่ได้ยึดอุดมการณ์ที่มีค่า ไปเถิด…ถ้าเจ้าต้องการเดินตามรอยเท้าพ่อ”

ตอนหนึ่งของพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง เดินตามรอยเท้าพ่อ

P29-3249-d ด้วยพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณา เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์อยู่ในดวงใจของพสกนิกรชาวไทยตลอดมา ขอพระผู้เป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,249 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2560