สศค.เผยศก.ไทยในเดือนก.พ.60 ขยายตัวได้ดีจากการใช้จ่ายภาคเอกชน

30 มี.ค. 2560 | 05:34 น.
“เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ขยายตัวได้ดีจากการใช้จ่ายภาคเอกชน สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนส่วนใหญ่ส่งสัญญาณดีขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยด้านการผลิต ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรกรรมที่ขยายตัวได้ดี ส่งผลทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง”

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ว่า  “เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ขยายตัวได้ดีจากการใช้จ่ายภาคเอกชน สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนส่วนใหญ่ส่งสัญญาณดีขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยด้านการผลิต ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรกรรมที่ขยายตัวได้ดี ส่งผลทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มีสัญญาณดีขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนซึ่งสะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศ และภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อปี นอกจากนี้ ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 14.9 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและในเขตภูมิภาคที่ร้อยละ 10.6 และ 16.3 ต่อปี สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 19.8 ต่อปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งในด้านผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวร้อยละ 49.8 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากการที่ค่ายรถยนต์ได้แนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ในเดือนมกราคม 2560 ที่ผ่านมา ประกอบกับปัจจัยฐานที่ต่ำจากการชะลอการซื้อรถยนต์หลังมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ในช่วงต้นปี 2559 สำหรับดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 64.3 และสูงสุดในรอบ 14 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้นส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกร

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณในทิศทางเป็นบวกเช่นกัน สะท้อนจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 6.3 ต่อปี จากการขยายตัวของยอดจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 20.4 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 40.7 ต่อเดือน อย่างไรก็ดี แม้ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 หดตัวร้อยละ -0.1 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่าขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อเดือน

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้า แม้ว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ร้อยละ -2.8 ต่อปี แต่ถ้าหากหักมูลค่าการส่งออกทองคำและสินค้าหมวดอากาศยานสูง พบว่า ขยายตัวร้อยละ 8.5 ต่อปี ทั้งนี้ หมวดสินค้าสำคัญที่สนับสนุนการส่งออก ได้แก่ สินค้าเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์ยางพารา อิเล็กทรอนิกส์ และตลาดที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ จีน CLMV ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป สำหรับมูลค่าการนำเข้า ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 20.4 ต่อปี จากหมวดสินค้าสำคัญ เช่น สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่ขยายตัวร้อยละ 20.9 ต่อปี และสินค้าทุนที่ขยายตัวร้อยละ 23.3 ต่อปี ทั้งนี้ การส่งออกที่สูงกว่าการนำเข้าส่งผลให้ดุลการค้า ยังคงเกินดุลที่ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการเกษตร สะท้อนจาก ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 8.2 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า เช่น ข้าวเปลือก ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล และดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นในระดับสูงที่ร้อยละ 12.7  ต่อปี โดยเพิ่มขึ้นในหมวดพืชผลสำคัญจากราคายางพารา และราคาปาล์มน้ำมันเป็นสำคัญ ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และหมวดประมง ตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 และ 0.6 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของแรงงานรวม ขณะที่ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ณ                 สิ้นเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ระดับร้อยละ 42.0 ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 สำหรับทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 อยู่ที่ 183.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ณ เดือนมกราคม 2559 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 3.3 เท่า สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยในการรองรับความเสี่ยงจาก   ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้