องค์กรสื่อ+ภาคประชาสังคม+ครู  เสนอแนะการปรองดอง

29 มี.ค. 2560 | 07:12 น.
29  มีนาคม 2560-  พลตรี คงชีพ  ตันตระวาณิชย์ ประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่  28 มีนาคม 2560 คณะผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน อันประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมด้านสาธารณสุข อันประกอบด้วย มูลนิธิแพทย์ชนบท สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย ได้ให้เกียรติร่วมสะท้อนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแก่คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ณ ศาลาว่าการกลาโหม สรุปดังนี้

260429 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนสนับสนุนกระบวนการปรองดองที่ดำเนินการอยู่ และทราบดีว่าการดำเนินการในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ย่อมต้องมีปัญหา การนำวัฒนธรรมไทยที่มีความหลากหลายมาเป็นเครื่องมือสนับสนุนการปรองดองจะเป็นประโยชน์ในภาพรวม

โดยมองปัญหาที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของสื่อมวลชน เกิดจากอำนาจทางการเมืองและอำนาจจากกลุ่มทุน ที่เข้าไปแทรกแซงการดำเนินงานของสื่อมวลชนซึ่งต้องแข่งขันกันด้วยการนำเสนอความจริงอย่างรอบด้าน ด้วยความรวดเร็ว  การแทรกแซงดังกล่าวมีผลให้สื่อไม่สามารถแข่งขันกันอย่างเสรี โดยสื่อที่มีปัญหาในปัจจุบันมิใช่สื่อหลัก แต่เป็นสื่อที่เกิดจากกลุ่มทุนหรือกลุ่มการเมือง

รัฐจึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่ เป็นกลไกในการกำกับดูแลสื่อ และกลุ่มบุคคลที่ปลุกปั่นและยั่วยุให้เกิดความแตกแยกในสังคม. เพื่อให้สื่อสามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม

นอกจากนั้น รัฐควรเปิดเผยข้อมูลรัฐกับสื่อมวลชนมากขึ้น  เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเป็นผู้นำเสนอความจริงต่อประชาชนและมีส่วนร่วมตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคม รวมทั้งดำเนินการกับสื่อออนไลน์ที่เป็นสาเหตุของปัญหาอาชญากรรม และการหลอกลวงประชาชน  และร่วมกันปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ให้ทันสมัยกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

ขณะเดียวกัน รัฐจำเป็นต้องให้ความรู้และการศึกษากับประชาชน เพื่อให้สังคมใช้สามารถใช้ดุลพินิจในการตรวจสอบและแยกแยะข้อมูลจากสื่อ  รู้เท่าทันสื่อและการถูกละเมิดจากสื่อ

ทั้งนี้ สื่อจำเป็นต้องมีการควบคุมกำกับดูแลกันเองให้อยู่ในมาตรฐานทางจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน โดยประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

ในขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมได้สะท้อนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะหลักที่เป็นประโยชน์ในด้านการศึกษา และสาธารณสุข โดยสรุปคือ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการปฏิรูปการศึกษามาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน แต่ปัจจุบันเน้นการปฏิรูปโครงสร้างองค์กร ซึ่งผู้เรียน ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง ขณะผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงคือผู้บริหาร  จึงทำให้มีปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอนในปัจจุบัน และเห็นว่าแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือการให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงหรือได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งเสนอแนะให้บรรจุการศึกษาและความเท่าเทียมกันของประชาชนไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้สังคมมีความเข้มแข็งที่ยั่งยืน

ส่วนปัญหาด้านสาธารณสุข เห็นว่าที่ผ่านมายังคงมีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันระหว่างองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน กุญแจสำคัญคือการปรับมุมมองให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ถึงความแตกต่างของที่มา. เพื่อปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ภาคเอกชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมที่เท่าเทียมกับภาครัฐมากขึ้น ในการบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพร่วมกัน โดยมิมองแต่เรื่องของผลประโยชน์

ทั้งนี้ ทั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนและองค์กรภาคประชาสังคมด้านการศึกษาและสาธารณสุข ได้ร่วมแสดงถึงความมุ่งมั่นและความจริงใจในการสะท้อนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างสร้างสรรค์แก่คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ร่วมกันเป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองและการปฏิรูปประเทศในภาพรวม