ตั้งบริษัทในสิงคโปร์ รับสินบน "โรลส์-รอยซ์" หลักฐานมัดปตท.

29 มี.ค. 2560 | 06:03 น.
วันที่ 29 มี.ค.60-หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3248 ระหว่างวันที่ 30 มี.ค.-1 เม.ย.2560 รายงานการสืบสวนสอบสวนคดีพนักงานปตท.และปตท.สผ.รับสินบน จากบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม อิงค์(RRESI) ที่เป็นบริษัทลูกของโรลส์-รอยซ์ มีความชัดเจนมากขึ้น โดยศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) โดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ตรวจสอบรายละเอียดที่พนักงานบริษัทโรลส์-รอยซ์ฯไปให้การต่อกระทรวงยุติ ธรรมสหรัฐฯพบมีการจ่ายเงินค่านายหน้าส่วนเกินหรือเงินสินบนหลายครั้งเพื่อล็อกสเปกทางเทคนิคโครงการให้โรลส์-รอยซ์

ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินงานเพื่อป้องกันปัญหาสินบนข้ามชาติ ที่มีนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นประธาน ได้มีการนำเสนอผลการตรวจสอบกรณีกระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา ได้ตรวจสอบพบกรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม อิงค์ (RRESI) ได้ติดสินบนผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) กว่า 11 ล้านดอลลาร์ หรือราว 385 ล้านบาท ในช่วงปี 2543-2556 เพื่อให้ซื้อเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ มาใช้ใน 6 โครงการ

การตรวจสอบ พบว่าการจ่ายสินบนครั้งนี้ มีพนักงานปตท.เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดรายละเอียดทางเทคนิค ที่เกี่ยวกับคุณสมบัติเครื่องยนต์ที่จะนำไปติดตั้งในโครงการต่างๆในลักษณะที่เอื้อให้กับบริษัท โรลส์-รอยซ์ฯ ได้เปรียบบริษัทคู่แข่งรายอื่น แลกกับการที่โรลส์-รอยซ์ ยอมจ่ายค่านายหน้าให้กับเจ้าหน้าที่ปตท. มากกว่าข้อกำหนดนโยบายของบริษัทที่กำหนดให้จ่ายค่านายหน้าได้ไม่เกิน 5% แต่การขายเครื่องยนต์ให้กับบริษัทปตท.ฯ ทาง โรลส์-รอยซ์ได้จ่ายค่านายหน้าถึง 7.5%

“เป็นที่รับรู้ว่าการจ่ายค่านายหน้าที่เกินปกตินี้ เพื่อนำเงินดังกล่าวไปติดสินบนเจ้าพนักงานของต่างประเทศนั่นคือ PTT และ PTTEP เพื่อให้ได้สิ่งตอบแทนกลับมาด้วยการได้รับสัญญาการซื้อ การจ้างที่สุดแล้ว โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม อิงค์บริษัทลูกของโรลส์-รอยซ์ได้งานของ ปตท.ถึง 6 โครงการ” รายงานผลสอบสวนสินบนโรลส์-รอยซ์ ระบุ

จากการตรวจสอบพบว่า ได้มีการจัดตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศกรรมขึ้นมาที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อรับค่านายหน้าเพิ่มอีก 2.5-3.5% ซึ่งประเด็นนี้ถูกระบุไว้ในรายงานการสอบสวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯที่ระบุว่า ในความพยายามที่จะเอาชนะนโยบายใหม่ของบริษัทที่จำกัดค่านายหน้าในการขายที่ 5% โรลส์-รอยซ์ ผู้บริหาร พนักงาน 1 พนักงาน 3 และผู้อื่น ได้บิดเบือนการจ่ายค่านายหน้าที่ให้กับที่ปรึกษา รวมถึงคนกลาง 4 ด้วยการบันทึกบัญชีค่านายหน้าเหล่านี้ โดยแยกเป็นค่าตอบแทนด้านวิศวกรรม หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกัน ทั้งที่ไม่ได้มีการให้คำปรึกษาแต่อย่างใด แต่ด้วยการแยกจ่ายเงินเหล่านี้ออกเป็นคนละโครงการ ทำให้ค่านายหน้ารวมสูงกว่า 5%

โดยการวางแผนการลับเกี่ยวกับการติดสินบนประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นในช่วงปี 2543-2555 โรลส์-รอยซ์ และพนักงานบริษัท รวมถึงผู้บริหาร พนักงาน 1 พนักงาน 2 และพนักงาน 3 และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันแผนการลับเกี่ยวกับการติดสินบน โดยเตรียมการไว้ล่วงหน้า แก่ที่ปรึกษาทั้งหลายของโรลส์-รอยซ์ ตัวกลาง 4 ก่อนส่งผ่านเงินที่สูงกว่าค่าที่ปรึกษาไปให้แก่เจ้าหน้าที่ปตท. ผู้รับผิดชอบในการทำให้ได้อนุมัติงานของสัญญาโครงการต่างๆ

ตัวอย่างเช่น ณ วันที่หรือใกล้เคียงกับวันที่ 8 เมษายน 2545 พนักงาน 2 ได้ส่งอี-เมล์ไปให้พนักงาน 1 และผู้อำนวยการของตัวกลาง 4 เกี่ยวกับกลยุทธ์ที่จะได้ชัยชนะ ในการได้รับอนุมัติสัญญาการก่อสร้างโรงงานแยกก๊าซ รู้จักกันในนามว่า โครงการ GSP-5 (โรงแยกก๊าซที่ 5) เพื่อโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่หลายคนของ ปตท. ผู้ซึ่งพนักงาน 2 อ้างถึงว่าเป็น “เพื่อนทั้งหลาย” เพื่อที่จะให้มีการกำหนดรายละเอียดทางเทคนิค คุณลักษณะ สำหรับโครงการไปในทางที่ให้เกิดความมั่นใจว่า โรลส์-รอยซ์ จะอยู่ในสถานะดีที่สุดที่จะเป็นบริษัทที่จะชนะได้รับอนุมัติสัญญา

หลังจากนั้นโรลส์-รอยซ์ ประสบความสำเร็จ ด้วยการได้รับอนุมัติสัญญาสำหรับโครงการ GSP-5 ในเดือนมกราคม 2546 หลังจากที่โรลส์-รอยซ์ ได้จ่ายค่านายหน้าซึ่งเป็นค่าคอร์รัปชันให้กับคน กลาง 4 ตามที่ตกลงกันไว้แล้วล่วงหน้าที่ 7.5% ของราคาสัญญางาน

P1-scoop-3248

นอกจากนี้ยังพบว่าวันที่ 17 เมษายน 2546 พนักงาน 3 ได้ส่งอี-เมล์ถึงผู้ใหญ่ของบริษัทคนกลาง 4 และมีการสำเนาให้ถึงผู้บริหาร และพนักงาน 1 โดยอธิบายว่า ฉันรู้ว่าเราได้มาถึงระยะที่ตกลงกับท่านว่า ค่านายหน้าของคนกลาง 4 ซึ่งนอกเหนือไปจากค่าของโครงการนี้จะเป็น 6.5% แต่ว่าสิ่งนี้ไม่สามารถที่จะถูกจ่ายได้ภายใต้ข้อตกลงหนึ่งเดียวกับคนกลาง 4 เนื่องจากมันจะไม่ได้รับการอนุญาต โดยบริษัท โรลส์-รอยซ์ฯ ดังนั้นสิ่งที่เราจะทำได้คือการแบ่งค่านายหน้าจำนวนดังกล่าวออกเป็น 2 ส่วน หนึ่งส่วนสำหรับค่านายหน้าปกติ ยกตัว อย่าง 4.5% และอีก 2% จะได้รับให้ครบภายใต้สัญญาที่แยกออกไปต่างหากสำหรับ “ความช่วยเหลือด้านวิศวกรรมภายในประเทศ”

ต่อมาในวันที่ 9 กรกฎาคม 2546 พนักงาน 3 ได้ส่งอี-เมล์ให้กับผู้บริหาร โดยให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าพวกเขาจะบิดเบือนด้วยการแยกรายการจ่าย เงิน เพื่อให้ค่านายหน้ารวมทั้งหมดอาจจะสูงถึง 7.5% โดยได้ซ่อนเงินบางส่วนไว้ในโปรแกรมบัญชีของบริษัท ที่เรียกว่าค่าความร่วมมือด้านวิศวกรรม จากภายนอก

แหล่งข่าวกล่าวว่า ผลจากการตรวจสอบพบว่าการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ปตท.ครั้งนี้เป็นการจ่ายผ่านบัญชีธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีการโอนเงินจากสหรัฐฯมายังบัญชีธนาคารของคนกลาง 4 ในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งที่ประชุมอนุกรรมการมีความเห็นว่ากรณีดังกล่าว เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน โดยใช้วิธีการและหนทางของการสมรู้ร่วมคิดของ โรลส์-รอยซ์ ผ่านทางพนักงานของบริษัท และตัวแทนรวมถึงพนักปตท. ในการ ใช้วิธีพูดคุยสนทนาเป็นการส่วนตัว และผ่านทางวิธีการต่างๆ ทั้งการใช้อี-เมล์ การจ่ายเงินค่าสิน บนแก่เจ้าหน้าที่ของต่างประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ความได้เปรียบอย่างไม่ถูกต้องและได้มาและดำรงไว้ทางธุรกิจของ โรลส์-รอยซ์

นอกจากนี้ ในการสมรู้ร่วมคิดของโรลส์-รอยซ์ มีผลให้มีการจ่ายค่านายหน้าเพื่อการคอร์รัปชัน ซึ่งกระทำโดย โรลส์-รอยซ์ ผ่านทางที่ปรึกษาทางการค้า ซึ่งรวมถึงคนกลาง 4 ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าการจ่ายค่านายหน้าเช่นนี้ หรือบางส่วนที่เป็นของเงินจำนวนนี้ จะเป็นการถูกใช้ไปเพื่อการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐของต่างประเทศ

“การสมรู้ร่วมคิดของโรลส์-รอยซ์ครั้งนี้มีการใช้ ชื่อย่อ เพื่อปกปิดตัวตนที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่ปตท. และมีการจ่ายค่านายหน้าเพื่อการคอร์รัปชัน จากบัญชีธนาคารของ โรลส์-รอยซ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางส่วนใต้ของรัฐโอไฮโอไปยังบัญชีธนาคารของคนกลาง”

ป.ป.ท.ได้เสนอให้นำความร่วมมือด้านมาตรฐานการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน หรือ FATF ที่ไทยทำไว้กับสหรัฐฯมาใช้ในการสืบสวนและเพื่อขอความร่วมมือจากสหรัฐฯ เพื่อตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินการขอข้อมูลจากธนาคารที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินของ โรลส์-รอยซ์ ที่จ่ายให้กับพนักงานปตท.