สินเชื่อ‘SMEs’วูบ 20% ลูกค้าใหม่ไม่ลงทุน ทีเอ็มบีหั่นจีดีพี 0.2%

01 เม.ย. 2560 | 08:00 น.
สินเชื่อเอสเอ็มอี 2 เดือนหัวทิ่มยอดปล่อยสินเชื่อลูกค้าใหม่หดตัว 10-20% แบงก์ส่ายหัวลูกค้าไม่ลงทุนเน้นปรับกระบวนการอนุมัติให้เร็วขึ้น กสิกรไทย ชี้สัญญาณรายเดิมใช้หมุนเวียนเพิ่ม สะท้อนลูกค้าเก่าฟื้นตัว ด้าน “ธนชาต”ลุ้นไตรมาส 2 เห็นยอดอนุมัติเพิ่มเกิน 50% ทีเอ็มบีหั่นจีดีพีโต 3.3%

นายพัชร สมะลาภารองกรรมการผู้จัดการอาวุโสธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการใช้สินเชื่อใหม่ของลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในช่วง 2 เดือนแรกหดตัวลดลง 10-20% เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและการลงทุนใหม่ที่ยังชะลอตัวอยู่

อย่างไรก็ตามในปีนี้ธนาคารให้ความสำคัญกับการปรับปรุงพัฒนากระบวนการทำงานหลังบ้านให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการอนุมัติสินเชื่อให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น จากเดิมจะใช้เวลาค่อนข้างนานเฉลี่ยนับตั้งแต่วันที่พนักงานลูกค้าสัมพันธ์(RM) เจอลูกค้าจนถึงอนุมัติสินเชื่อจะใช้เวลาเฉลี่ย 1 เดือน แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 2 สัปดาห์และยอดอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rate) เฉลี่ยอยู่ที่ 70-80%

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ความต้องการที่ลดลงในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เป็นผลมาจากกำลังซื้อยังไม่กลับมาฟื้นเต็มที่ แต่ธนาคารเริ่มเห็นสัญญาณลูกค้ารายเดิมกลับมาใช้วงเงินหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว โรงแรม เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเทียบในช่วง2 เดือนแรกในส่วนของอัตราการเติบโตถือว่าค่อนข้างทรงตัว หรือมีอัตราการเติบโตของยอดสินเชื่อคงค้างบวกลบ 1% จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 6.5 แสนล้านบาทเนื่องจากสินเชื่อใหม่ลดลง 10-20% แต่มีอัตราการเบิกใช้วงเงินของลูกค้ารายเดิม

อย่างไรก็ตามปีนี้กลุ่มที่น่าจะขยายตัวได้ดี และน่าจะเห็นการลงทุนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะเป็นกลุ่มภาคก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง ส่วนภาคเกษตร น่าจะยังขยายตัวไม่มากนัก แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรจะปรับตัวดีขึ้น ทำให้สัญญาณลูกค้าที่มีความต้องการลงทุนใหม่ๆยังมีไม่มากนัก

นางธีรนุช ขุมทรัพย์ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกค้ารายย่อย ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ความต้องการสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็กในช่วง2 เดือนแรกค่อนข้างนิ่ง โดยยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ ไม่เห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ หากเทียบกับไตรมาสที่ 4 ถือว่ายอดปรับลดลง20% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฤดูกาลและภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังชะลอตัว
7
ขณะที่สินเชื่อหมุนเวียนหรือเบิกเกินบัญชี (O/D) มีอัตราเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเฉลี่ยจะใช้วงเงินอยู่ที่ 60% โดยกลุ่มที่เห็นการเบิกใช้วงเงิน ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมภาคผลิต ค้าปลีกค้าส่ง กลุ่มก่อสร้าง-รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามธนาคารเร่งพัฒนาและปรับกระบวนการภายในให้มีความรวดเร็วในการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งคาดว่าภายในไตรมาสที่ 2 จะเห็นยอดอนุมัติสินเชื่อ สูงกว่า 50% ขณะที่เป้าหมายการเติบโตสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กอยู่ที่ 10% จากยอด 1.2 หมื่นล้านบาทส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 5%

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า ธนาคารปรับลดประมาณการเติบโตจีดีพีปีนี้มาที่ 3.3% จากเดิมอยู่ที่ 3.5% เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวช้ากว่าที่คาดเดิมอยู่ที่ 2.2% เหลือเพียง 1.7% ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนการเติบโตมาจากปัจจัยเดิมๆ และกระจุกตัวในการลงทุนภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว คิดเป็น 1 ใน 4 ของจีดีพี

ขณะที่ภาพรวมสินเชื่อในระบบคาดขยายตัวอยู่ที่ 5.7% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 6.3% ตามภาวะการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงส่วนเงินฝากปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 2.7% ปีนี้คาดว่าจะเติบโตที่ 4.3% ส่วนเอ็นพีแอล คาดว่าจะพีกสูงสุดในไตรมาสที่ 2 โดยสิ้นปีจะอยู่ที่ 2.82% ซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,248
วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2560