เงินทุนเคลื่อนย้ายจ่อกลับชาติกำลังพัฒนา(ที่ยังไม่ใช่เรา)

30 มี.ค. 2560 | 01:00 น.
ผ่านไปแล้วกับไตรมาสแรกของปี 2017 ที่มีทั้งความเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองและโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศและน่าจะเป็นเวลาที่ดีที่เราจะมาอัพเดตว่าเกิดอะไรขึ้นในตลาด เพื่อที่จับทางแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายภาพใหญ่กันครับ

เริ่มด้วยตลาดเงินและสินค้าโภคภัณฑ์ ดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงโดยเฉลี่ย 3% ขณะที่เงินออสเตรเลียแข็งขึ้น 6.4% พร้อมกับราคาทองคำที่บวกถึง 7.1% แม้ราคาน้ำมันจะอ่อนค่าถึง 8.9% ฝั่งสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ราคาพันธบัตรบราซิลปรับตัวขึ้นแรงที่สุด 3% เนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่าเศรษฐกิจฟื้น สวนทางกับบอนด์อิตาลีที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุด -4% สะท้อนภาพตลาดที่เริ่มไม่ตอบสนองกับนโยบายผ่อนคลายการเงินในยุโรป จบด้วยฝั่งสินทรัพย์เสี่ยงที่ตลาดหุ้นสหรัฐทำผลงานได้เด่นที่สุด +6.2% ตามแรงคาดหวังเรื่องนโยบายการคลังและภาษี ขณะที่หุ้นรัสเซียร่วง 8.7% จากแรงกดดันด้านราคาน้ำมันและค่าเงินรูเบิลที่แข็ง

กลับมาที่บ้านเรา หุ้นไทยบวกเล็กน้อยราว 1% ราคาบอนด์ลดลงราว 1% และค่าเงินบาทแข็งค่า 3% เงินทุนต่างชาติ “ไหลเข้า” บอนด์ 1.8 พันล้านดอลลาร์ แต่ “ไหลออก” จากหุ้น 300 ล้านดอลลาร์

กล่าวโดยสรุปคือปีนี้ตลาดมีความเชื่อว่านโยบายการเงิน (ดอกเบี้ย) ที่ใช้มาตลอดเกือบ 10 ปีจะถูกลดบทบาทลงแน่นอนและโลกจะค่อย ๆ ถูกขับเคลื่อนด้วยนโยบายการคลัง (ภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐ) แต่เนื่องจากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets หรือDM) ยังขากการกระตุ้น แต่การขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ตลาดเงินจึงเกิดอาการ “ไม่มีที่ไป” จนสุดท้ายต้องไหลกลับมาพักในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงหรือทองไปก่อน

ภาพตลาดแบบนี้ดูเหมือนจะสับสน แต่ถ้าเราแยก “Conviction” หรือความเชื่อของตลาดออกจาก “Fiction” หรือเรื่องราวในจินตนาการได้ ผมเชื่อว่าเราจะ “รู้ทัน” แนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ไม่ยาก

Market Conviction ที่ชัดเจนที่สุดสำหรับผมมี 2 เรื่องคือ ดอกเบี้ยขาขึ้น และนโยบายการคลังที่กำลังหนุนเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets หรือ EM) ขณะที่เรื่องภาษีหรือการลงทุนภาครัฐในอเมริกาดูจะเป็นเพียง “Fiction” ที่ในความเป็นจริงแทบจะไม่มีใครกล้าฟันธงว่านโยบายดังกล่าวจะเกิดจริงหรือไม่ หรือจะส่งผลบวกกับเศรษฐกิจจริงแค่ไหน

ต่างกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐออกมาขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมาและยังมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกจนถึง 3% ทำให้เรารู้ว่าดอกเบี้ยขาขึ้นเป็น “ของจริง” แน่นอน และคงไม่พ้นที่เราจะต้องเจอกับเงินทุนที่จะไหลออกจากตลาดบอนด์ที่ให้ผลตอบต่ำทั่วโลกในไม่ช้า คราวนี้เงินจะไปไหน

ที่ที่ “ใช่ที่สุด” คือสำหรับโลกในตอนนี้ คือการลงทุนที่ใช้นโยบายการคลังของ EM เพื่อ “ปรับฐานรายได้” และ “พัฒนาคุณภาพชีวิต” ของประชาชนในประเทศให้เข้าใกล้ระดับประเทศ DM ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตและมีเม็ดเงินไหลเข้าในระยะยาว ไม่ใช่นโยบายการคลังแบบฉาบฉวยอย่างการลดภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ยิ่งถ้ามองผ่านตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า EM ปรับตัวดีกว่า DM แล้วจริง ๆ ตั้งแต่ช่วงที่เฟดกลับมาขึ้นดอกเบี้ย และเชื่อว่าในอนาคตภาพเงินทุนที่ค่อย ๆ ไหลฝั่ง EM จะกลายเป็นภาพที่คุ้นตาของนักลงทุนมากขึ้น ในอดีตตลาดทุนไทยก็เคยมีเงินทุนไหลเข้าในช่วงที่ตลาดกำลังพัฒนาโตได้เด่นกว่าตลาดพัฒนาแล้วชัดเจนที่สุดคือช่วงปี 2000 - 2007 ที่มีเงินทุนไหลเข้าราว 2 แสนล้านบาทครับ

แม้ระยะสั้น (6-12 เดือน) ทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายไม่ได้ไหลผ่านไทยชัดเจน เนื่องจาก “หุ้นเราไม่ได้ถูก” เหมือนหุ้นประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ (เช่นในเอเชียกลาง อเมริกาใต้ หรือยุโรปตะวันออก) ขณะที่ “บอนด์ยีลด์ของเราก็ต่ำ” เมื่อเทียบกับประเทศที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกันกัน แต่ในระยะยาวผมยังเชื่อว่าประเทศไทยจะยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่น่าจะมีเงินทุนไหลเข้าอยู่ ถ้าเราจับแนวโน้มหลักซึ่งคือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้
ขอเพียงเมื่อไหร่เรามีกำหนดแผนการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมชัดเจนว่าเราอยากไปถึงจุดไหน เมื่อไหร่ และลงมือทำจริง ไม่ใช่แค่คิดโตปีต่อปีเหมือนแต่ก่อน ผมยังเชื่อว่าประเทศไทยยังคงเป็น “หนึ่งในจุดหมาย” ของนักลงทุนทั่วโลกได้ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,248 วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2560