รายย่อยร้องก.ล.ต.สอบหมอวิชัย-ศุภนันท์

28 มี.ค. 2560 | 08:21 น.
วันที่  28 มกราคม 2560 ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IFEC) ได้เข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบ การปฏิบัติหน้าที่ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของกรรมการของบริษัท เนื่องจากเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากผลการกระทำของนายแพทย์วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการบริษัท และนายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ กรรมการ IFEC ในฐานะผู้บริหารของบริษัท  ในการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายครั้งหลายคราว ขาดความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง ความซื่อสัตย์สุจริต และละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของกรรมการบริษัท ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของบริษัท

ในหนังสือร้องให้ตรวจสอบ ได้ยกตัวอย่าง เช่น การเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกก่อนครบวาระ เพื่อให้มีจำนวนกรรมการครบองค์ประชุม ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด การเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกก่อนครบวาระ โดยขัดกับข้อบังคับของบริษัท และเอกสารเชิญประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น การไม่เสนอวาระการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ภายหลังจากที่บริษัท มีจำนวนกรรมการครบองค์ประชุมแล้ว การไม่ส่งงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบ ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด การผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน การไม่ชี้แจงเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์สอบถามเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน อันเป็นเหตุให้หลักทรัพย์ของบริษัท ถูกห้ามซื้อขาย ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2560 จนถึงปัจจุบัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมานั้น บริษัทฯได้มีการแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 3/2560 ตามรายละเอียดปรากฏในเอกสารที่ส่งมาด้วย ข้อ 1 ซึ่งบริษัทแจ้งว่า มีกรรมการจำนวน 5 คนขอตัวออกจากที่ประชุม ซึ่งเห็นว่า การที่กรรมการเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่มีอยู่ของบริษัทได้ออกจากที่ประชุม ย่อมทำให้ ที่ประชุมมีจำนวนกรรมการไม่ครบเป็นองค์ประชุม และไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้ โดยประธานกรรมการอาจดำเนินการขอเลื่อนการประชุมออกไป หรือ ยุติการประชุมได้เท่านั้น แต่กรรมการที่เหลือ ยังยินยอมให้ประธานกรรมการดำเนินการประชุมต่อ ซึ่งเข้าข่ายเป็นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่ระมัดระวังและน่าจะขัดต่อ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชน

และยังมีการแจ้งมติที่สำคัญต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ที่ประชุมได้รับทราบซึ่งในข้อกฎหมายต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการ ได้แก่ การกำหนดวันและวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2560 การกำหนดให้ผู้ถือหุ้นที่มีความประสงค์ต้องการเสนอรายชื่อกรรมการทดแทนกรรมการที่ครบกำหนดออกตามวาระ และ การกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 30 มีนาคม 2560 (Record date) และให้รวบรวมรายชื่อตามมาตรา 225 ของ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยวิธีปิดสมุดทะเบียน ในวันที่ 31 มีนาคม 2560 อีกทั้ง บริษัทฯมีการแจ้งรายชื่อของผู้ถูกเสนอชื่อเข้าเป็นกรรมการ อีกตามรายละเอียดปรากฏในเอกสารที่ส่งมาด้วยข้อ 2 โดยไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ซึ่งข้าพเจ้า มีความเห็นว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันดังกล่าวข้างต้น เป็นโมฆะ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อีกทั้ง การที่สำนักงานก.ล.ต. ยังคงให้บริษัทฯ ดำเนินการกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี และการเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระจากรายชื่อผู้ถูกเสนอชื่อเข้าเป็นกรรมการ ที่ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทและข้าพเจ้าผู้ถือหุ้น จึงขอให้ สำนักงาน ช่วยสั่งการให้ ประธานกรรมการบริษัท แจ้งยกเลิก มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 3/2560 ที่ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว และเรียกประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งใหม่ เพื่อพิจารณาตามวาระเดิมที่ค้างอยู่และไม่ได้พิจารณาในที่ประชุมด้วย

ผู้ถือหุ้นรายย่อย ระบุว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัทฯ เป็นอย่างมาก จึงใคร่ขอให้สำนักงานก.ล.ต.ได้โปรดมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานทำการตรวจสอบ ว่า การกระทำการที่ในช่วงเวลาผ่านมาของ กรรมการทั้งสองคน เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและไม่เป็นไปตาม มาตรา 89/7, 89/8, 89/9, และ 89/10 แห่ง พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (รวมทั้งฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม) หรือไม่ และหากพบว่า การกระทำการของกรรมการทั้งสองคน เป็นการขัดกับข้อกฎหมายดังกล่าว และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องจริง ขอให้สำนักงานได้โปรดหามาตรการลงโทษ ผู้บริหารทั้งสองคน โดยเร็ว เพื่อไม่ให้ก่อให้ความเสียหายแก่บริษัทฯอีกในอนาคต