ท็อปส์ผลักดันสินค้า GI เพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน

01 เม.ย. 2560 | 06:00 น.
จาก 3 แกนหลักความรับผิดชอบต่อสังคมของ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ทั้งด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา ทำให้เกิดโครงการต่างๆ มากมาย และล่าสุด กับนโยบายด้านสังคม ซึ่ง "เมทินี พิศุทธิ์สินธพ" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายจัดซื้อกลุ่มสินค้าอาหารสดและบริหารจัดซื้อ เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล บอกว่า ต้องการให้ความสำคัญกับเรื่องของการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนมากที่สุด เพราะนั่นคือ สิ่งที่จะพัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

[caption id="attachment_137223" align="aligncenter" width="503"] เมทินี พิศุทธิ์สินธพ เมทินี พิศุทธิ์สินธพ[/caption]

"เมทินี" อธิบายว่า ในฐานะที่ เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล เป็นองค์กรที่ต้องประสานงานโดยตรงกับเกษตรกร และแหล่งผลิตต้นทาง เพื่อนำสินค้าที่มีคุณภาพมาจำหน่ายใน เซ็นทรัล ฟู้ด ฮออล์ ท็อปส์มาร์เก็ต ท็อปส์ซูเปอร์สโตร์ ซูเปอร์คุ้ม ท็อปส์ เดลี่ และอีทไทย...ในแง่ของความยั่งยืน เราอยากช่วยชุมชน มันเป็นขั้นตอนในการพัฒนา โดยการเลือกชุมชนที่ทำจริง มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ทางท็อปส์จะนำระบบเข้าไปใส่ ให้ความรู้กับคนในชุมชน ตั้งแต่การคัดเลือกสินค้า การคัดเลือกพันธุ์ แนะนำว่าตลาดต้องการอะไร ควรปลูกอะไร มีการตรวจกรองคุณภาพ สร้างโรงแพ็ก สอนเรื่องการคำนวณต้นทุน กำไรและ ค่าใช้จ่าย และหาตลาดให้

[caption id="attachment_137225" align="aligncenter" width="335"] นัด อ่อนแก้ว นัด อ่อนแก้ว[/caption]

ท็อปส์ได้นโยบายการทำงานร่วมกับเกษตรกร มาต่อยอดด้วยการเข้าร่วมโครงการ "ท็อปส์เพื่อเกษตรกรไทย ร่วมใจประชารัฐ" เมื่อปี 2559 พร้อมทั้งจับมือกับมูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์ ทำการสนับสนุนเกษตรกรและชุมชน และล่าสุด ยังเพิ่มมูลค้าให้กับสินค้าเกษตร ด้วยการผลักดันให้เกษตรกรและชุมชน นำสินค้ามาขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และนำผลิตผลเหล่านั้น มาจัดพื้นที่วางขายเป็นเชลฟ์ หรือ GI Cornerในทุกสาขาของท็อปส์ โดยเริ่มต้น 2 จุดแรก คือ ที่เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ และเซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ ชิดลม และจะเปิดให้ครบ 100 สาขาในปีนี้

tp32-3248-c หนึ่งในชุมชนที่ท็อปส์ และมูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์เข้าไปสนับสนุนล่าสุด คือ วิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง ตงปันแต่ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ผู้ผลิตข้าวสังข์หยด ที่ได้เป็นสินค้า GI เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2548 "ผู้ใหญ่นัด อ่อนแก้ว" ประธานกลุ่มฯ เล่าว่า การขึ้นทะเบียน GI เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า จากเดิมที่ขายข้าวอยู่กิโลกรัมละ 40 บาท ตอนนี้สามารถขยับราคาขึ้นเป็น 100 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะผู้ซื้อเชื่อมั่นในมาตรฐานและคุณภาพของสินค้า ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจบ้านเขากลางมีผลผลิตจากข้าวสังข์หยด บนพื้นที่เพาะปลูก 900 ไร่ ผลผลิตต่อปีเฉลี่ย ไร่ละ 450 กิโลกรัม หรือประมาณกว่า 4 แสนตัน คิดเป็นรายได้จากการประกันราคาข้าวตันละ 15,000 บาท เท่ากับกว่า 6 ล้านบาทต่อปี และกลุ่มวิสาหกิจบ้านเขากลาง ยังพัฒนาสินค้าแปรรูปอื่นๆ อาทิ เส้นขนมจีนอบแห้ง มักกะโรนี ออกจำหน่าย สร้างรายได้อีกไม่น้อย โดย 30% ของผลผลิตข้าว ได้ส่งจำหน่ายให้กับท็อปส์

ปีนี้ท็อปส์ยังเตรียมขยายความช่วยเหลือชุมชนเพิ่มเติม 645 ราย แบ่งเป็น 135 ชุมชน 320 โอท็อป และ 190 เอสเอ็มอี และร่วมพัฒนาโมเดล 8 ชุมชนต้นแบบ ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์, เชียงราย, ลำพูน, ระยอง, อ่างทอง, แพร่, เลย และพัทลุง ขณะที่กลุ่มสินค้า GI ที่จะนำมาวางขาย ขณะนี้มีแล้ว 29 รายการ จดทะเบียนแล้ว 11 รายการที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,248
วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2560