อนัฆ นวราช ทายาทธุรกิจสู่สมาร์ทฟาร์เมอร์

02 เม.ย. 2560 | 02:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

การเป็นทายาทธุรกิจโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ อาจเป็นทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้ ที่ทำให้ "อนัฆ นวราช" หรือ "คุณฟี่" เข้ามาเป็นผู้บริหารกิจการของครอบครัวร่วมกับพี่ชาย แต่เขาก็สามารถทำออกมาได้ดี ทั้งการเป็นผู้จัดการทั่วไป ของ โรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ และ ผู้อำนวยการแบรนด์ "Patom" และหัวหน้าโครงการปฐมเชื่อมโยงอาหารอินทรีย์สู่ผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ นั่นเอง

"คุณฟี่" จบปริญญาตรีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และปริญญาโทด้านการถ่ายรูปที่ Pratt Institute USA New York เขาเคยเป็นทั้งช่างภาพ อาจารย์สอนหนังสือ ที่วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และยังเป็นอาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

การทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปที่โรงแรม ต่อยอดสู่การเป็นผู้สร้างแบรนด์ "Patom" และหัวหน้าโครงการปฐมเชื่อมโยงอาหารอินทรีย์สู่ผู้บริโภค งานทั้งหมดคือการรับลูกต่อจากไอเดียของพี่ชาย ที่สร้างสามพรานโมเดล โครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืช ผัก ผลไม้ แบบเกษตรอินทรีย์ จนมาถึงการต่อยอดนำพืชผัก ดอกไม้ ที่ได้มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งสบู่ แชมพู ครีมบำรุงผิว และอื่นๆ เพื่อใช้ในโรงแรม ต่อมาก็เริ่มรับจ้างผลิตส่งให้กับโรงแรมอื่นที่สนใจ จนปัจจุบัน ก้าวสู่การสร้างเป็นแบรนด์ "Patom" ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติจริงๆ เป็นส่วนผสม

[caption id="attachment_137193" align="aligncenter" width="503"] อนัฆ นวราช อนัฆ นวราช[/caption]

"คุณฟี่" ทำหน้าที่ดูแลบริหารแบรนด์แบบเต็มตัว รวมทั้งขยายต่อมาที่การเปิดร้าน "Patom" ที่ซอยทองหล่อ ซึ่งถือเป็นช่องทางขายแห่งใหม่ของแบรนด์ และยังเป็นช่องทางโปรโมตโรงแรม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรในโครงการสามพรานโมเดล ได้เป็นอย่างดี

แม้ "คุณฟี่" จะไม่ได้เรียนจบมาทางด้านการตลาด แต่ขั้นตอนการต่อยอดแบรนด์ "Patom" และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของโรงแรม รวมทั้งกิจการโรงแรม ก็เดินหน้าไปอย่างสวยงาม และเขายังนำความรู้ความสามารถด้านศิลป์ มาพัฒนาต่อยอดงานทุกๆ อย่างของเขา ทำให้สินค้าต่างๆ ออกมาโดนใจผู้บริโภค เช่น การดีไซน์แพ็กเกจจิ้ง เป็นขวดพลาสติกรูปทรงสามเหลี่ยม ที่ล้อไปกับแบรนด์ และโลโก "Patom" หรือการออกแบบร้าน "Patom" ที่ซอยทองหล่อ ก็เกิดจากความชอบอะไรที่เรียบๆ ง่ายๆ เป็นทรงเหลี่ยมๆ ดีไซน์ร้านที่ได้ จึงเป็นกล่องกระจกสี่เหลี่ยม โปร่งสบาย ตกแต่งในร้านด้วยสีขาวๆ ดำๆ มีเฟอร์นิเจอร์เป็นไม้เก่า และเครื่องหวาย ทุกอย่างตอบโจทย์ความเป็นธรรมชาติ เรียบง่าย แต่ดูดี

การตกแต่งง่ายๆ สบายๆ กลายเป็นความเก๋ โดนใจคนรุ่นใหม่ ทำให้ร้าน "Patom" ของเขากลายเป็นที่สนใจและรู้จักของทั่วไปอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแต่คนไทย แต่หมายถึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เพราะโลกโซเชียลมีเดีย ทำให้ร้าน Patom Organic Living ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 10 คาเฟ่ในกรุงเทพฯ ที่การท่องเที่ยวเกาหลีใต้เลยทีเดียว

แนวทางการทำธุรกิจและการสร้างแบรนด์ของ "คุณฟี่" เรียบง่าย ไม่ได้หวือหวา ตามสไตล์ของตัวเอง เขาค่อยๆ ขยายและต่อยอดงานของเขาไปเรื่อยๆ จากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตใช้ในโรงแรมของตัวเอง ขยายต่อมาจนปัจจุบัน กำลังเริ่มขยายตลาดสู่ต่างประเทศ ด้วยการออกบูธ ที่ฮ่องกง และญี่ปุ่น และกำลังค่อยๆ ขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เมื่อถามว่า เขาต้องการจะขยายธุรกิจอย่างไรอีกบ้าง "คุณฟี่" บอกเลยว่า จะรอให้ทุกอย่างในร้าน Patom นิ่งก่อน ตอนนี้มีอะไรให้ทำอีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นข้าวกล่อง ผักสด ผลไม้สด รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่เกษตรกรทำขึ้นเอง ซึ่งเขาจะคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานของสามพรานโมเดลเข้ามาวางจำหน่ายเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการทำดีลิเวอรี และกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ด้านเกษตร ที่นำเกษตรกรตัวจริงมาให้ความรู้ และยังมีเรื่องการโปรโมตร้าน ที่เจ้าตัวเห็นผลอย่างมากกับการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ที่เขาเองไม่ได้เล่นเลย แต่ตอนนี้ยอมรับแล้วว่าต้องใช้ และพร้อมเรียนรู้เพิ่มเติม

เมื่อทุกอย่างโอเคแล้ว เขาจะขยายตลาดผลิตภัณฑ์แบรนด์ Patom ต่อ ทั้งการส่งออก และการขยายตลาดโรงแรม รวมไปถึงช่องทางอื่นๆ ที่สนใจผลิตภัณฑ์ออแกนิกส์ด้านสกินแคร์ของเขา

จากแนวทางการทำธุรกิจของผู้ชายคนนี้ เรียกว่าสอดคล้องกับการเป็น “สมาร์ทฟาร์เมอร์” ที่ภาครัฐกำลัง ส่งเสริมอย่างพอดิบพอดี แต่ตัว “คุณฟี่” เอง ไม่ได้คิดไปถึงจุดนั้น เขาคิดเพียงว่า ต้องการทำหน้าที่เป็นผู้ส่ง ต่อผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรในสามพรานโมเดล ไปสู่มือผู้บริโภค ต้องการนำผลิตภัณฑ์ต้นนํ้าที่ดี ไปสู่มือ ปลายนํ้า แบบไม่เอารัดเอาเปรียบ… แบบนี้จะเรียก“สมาร์ทฟาร์ เมอร์” ไม่รู้เหมือนกันนะ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,248
วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2560