ฟาร์มยุคใหม่ต้องมี IOT ‘เกษตรกรเงินล้าน’ เปิดใจ

01 เมษายน 2560
เป็นเพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. วางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนพัฒนาเกษตรให้เป็น สมาร์ท ฟาร์เมอร์ เพื่อเข้าสู่ยุค 4.0

นั้นจึงเป็นที่มาที่ ดีแทค หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้สานพลังประชารัฐร่วมกับ 4 หน่วยงานภาครัฐยกระดับเศรษฐกิจชุมชนดิจิตอล ไม่เพียงเท่านี้ “ดีแทค” ยังได้จัดโครงการอบรมเพื่อพัฒนาเกษตรกรไทยให้ก้าวสู่การเป็น Smart farmer ภายใต้ชื่อโครงการ “ดีแทค ฟาร์มแม่นยำ” ซึ่งเป็นโครงการทดลองร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมมือกันพัฒนาขึ้นเพื่อผลักดันการเกษตรของไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยนำร่องการทดลองที่โคโค่ เมล่อน ฟาร์ม และฟาร์มมะเขือเทศเชอร์รี่แตะขอบฟ้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นฟาร์มต้นแบบของโครงการ มีเป้าหมายคัดเลือกเกษตรกรจำนวน 30 ฟาร์ม

อย่างไรก็ตาม “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ 2 หนุ่มเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรต้นแบบ ด้วยการนำ IOT (Internet Of Thing) เพื่อนำมาบริหารจัดการในยุคไทยแลนด์ 4.0 ติดตามอ่านได้จากบรรทัดถัดจากนี้

 เปิดใจเกษตรกรเงินล้าน
นายณัฐ มั่นคง เจ้าของ “โคโค่ เมล่อน ฟาร์ม” อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี จบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เกษตรกรต้นแบบของโครงการดีแทค ฟาร์มแม่นยำ เปิดเผยว่า มีความสนใจในธุรกิจการเกษตร และมองเห็นว่าเมล่อนเป็นผลไม้ที่มีราคาค่อนข้างสูงสามารถทำเงินได้โดยใช้พื้นที่ไม่มาก จึงได้เริ่มศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับเมล่อนด้วยตนเอง ทั้งการไปศึกษาดูงานตามสถานที่ต่างๆ อีกทั้งยังได้เข้าร่วมอบรมในโครงการของดีแทค ทั้งด้านการตลาด การเปิดเพจขายสินค้า การทำตลาดออนไลน์ การถ่ายรูปสินค้า และการนำเสนอสินค้าเพื่อสร้างการรับรู้ไปยังผู้บริโภค

“เกษตรกรเงินล้าน ไม่ใช่เพียงแค่ความฝัน ด้วยความรักที่จะทำ ความสนใจที่จะเรียนรู้ การดูแลเอาใจใส่ทุกขั้นตอน ทำให้แต่ละปีสามารถสร้างรายได้จากการปลูกเมล่อนไม่ต่ำกว่าล้านบาท โดยไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเพียงเกษตรกรอย่างเดียว แต่มองว่านี่เป็นการทำธุรกิจเกษตร กระบวนการทำงานและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินงาน ทุกอย่างคือต้นทุนในการทำธุรกิจ จากการลงมือทำธุรกิจที่เริ่มจากความชอบส่วนตัว”

 พัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
ณัฐ บอกต่ออีกว่า ในอนาคตมีเป้าหมายที่จะต่อยอดธุรกิจที่ไม่ใช่การปลูกเมล่อนเพียงอย่างเดียวแต่จะพัฒนา “โคโค่ เมล่อน ฟาร์ม” ให้เป็นธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดสุพรรณบุรีอีกด้วย

  ชี้ IOT ลดต้นทุน
ส่วนทางด้านนายปิยะ กิจประสงค์ เจ้าของฟาร์ม “มะเขือเทศเชอร์รี่แตะขอบฟ้า” จ.สุพรรณบุรี จบการศึกษาจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน บอกว่า เหตุผลที่เลือกปลูกมะเขือเทศเชอร์รี่ นั้น เพราะเห็นว่ามะเขือเทศเป็นพืชที่สามารถสร้างมูลค่าได้ในทุกส่วนหากผลผลิตไม่ได้คุณภาพก็สามารถนำไปแปรรูปได้ อีกทั้งเป้าหมายของการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศให้มีความแตกต่างจากมะเขือเทศอื่นๆ ด้วยองค์ความรู้ที่มีจึงทำให้ได้มะเขือเทศเชอร์รี่ที่ไร้เมล็ด รสชาติอร่อยที่เป็นการสร้างความแตกต่างเพื่อเป็นจุดขายให้กับ “มะเขือเทศเชอร์รี่แตะขอบฟ้า” การก้าวเข้าสู่การเป็นฟาร์มต้นแบบของโครงการดีแทค ฟาร์มแม่นยำ

นอกจากนี้แล้ว ปิยะ ยังให้ความเห็นว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้นั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะถ้านำระบบดังกล่าวที่ผ่านการทดลองมาใช้จริงและควบคุมโดยการใช้เซนเซอร์แล้ว ในอนาคตการดูแลผลผลิตก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายและมีความแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งการลงทุนเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ในระยะยาวถือว่ามีความคุ้มค่ามาก

สุดท้าย ปิยะ ได้ให้แนวคิดสำหรับผู้ที่ต้องการเป็น Smart farmer ว่าขอให้เริ่มทำในสิ่งที่ชอบและมีความสนใจจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการทำตามกระแสหากมีความสนใจที่จะทำการเกษตรก็ควรศึกษาข้อมูลพืชที่สนใจอย่างละเอียดรอบคอบ รวมถึงขั้นตอนการดูแลต่างๆ เพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจเกษตร

และทั้งหมด คือ เกษตรกรไทย ที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุนด้วยการนำระบบออนไลน์เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการในยุคไทยแลนด์ 4.0

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,248
วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2560