กูรูชี้ทางออกทางรอด SME 4.0 ใช้เทคโนโลยีช่วยขับเคลื่อน

01 เม.ย. 2560 | 03:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

การแข่งขันทางการตลาดยุคปัจจุบันหากไม่มีการปรับตัว ยังยึดติดอยู่กับรูปแบบดั้งเดิมเหมือนที่ผ่านมาคงไม่สามารถเอาตัวรอดจากสมรภูมิบนโลกของการแข่งขันได้โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ส่วนใหญ่มีสายป่านที่สั้น ขณะที่ภาครัฐเองมีแนวนโยบายในการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ผ่านมาตรการต่างๆ ทั้งทางด้านการเงิน และการให้คำปรึกษา การอบรม

ล่าสุด สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทยจัดงานTSC NETWORKING 2017จัดเวทีสัมมนา หัวข้อ"ทางออกทางรอดของ SME 4.0" ณ โรงแรมโนโวเทลสุวรรณภูมิ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็น และชี้แนะแนวทางในการทำธุรกิจยุคใหม่

 ใช้เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่า
นายสุพพัต อ่องแสงคุณ รองอธิบดี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือการเปลี่ยนแปลงของโลกในบริบทใหม่ที่มุ่งเน้นเรื่องการเพิ่มมูลค่า ทำให้รูปแบบของธุรกิจเปลี่ยนไป โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องตระหนักถึงคือเรื่องเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรม และการเรียนรู้ทางด้านต่างๆ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องคำนึงถึงปริมาณความต้องการของตลาดว่าคืออะไร เพื่อให้สามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงตามโจทย์ของตลาด โดยเมกะเทรนด์ของโลกในปัจจุบันคือเรื่องของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร รวมถึงการเปลี่ยนถ่ายขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกทำให้เกิดตลาดเกิดใหม่

นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการ สำนักตลาดพาณิชย์ และรักษาการผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (New Economy Academy) กล่าวเสริมว่า หากผู้ประกอบการไม่ต้องการตกกระแสของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ต้องการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าและบริการได้ตลอดเวลา จะต้องมีการปรับตัว หรือเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใด โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการทางความคิดของธุรกิจ ก่อนที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้านอื่น เพื่อให้นำมาสู่ความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ความต้องการของบริโภคจะเป็นปัจจัยที่บีบให้ผู้ประกอบการต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยอัตโนมัติ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันกระแสความต้องการมากน้อยเพียงใด ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ หากต้องการเป็นเอสเอ็มอี 4.0 จะต้องมีกระบวนการทางความคิดของธุรกิจแบบใหม่ รวมถึงจะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

นางอารดา กล่าวต่อไปอีกว่า โลกยุคดิจิตอลการจะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคได้ เอสเอ็มอีจะต้องมีเว็บไซด์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถค้นหาได้จากการเสิร์ชหาบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยประเด็นที่จะต้องดำเนินการก็คือ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเจอบริษัทของเราจากการค้นหาบนช่องทางดังกล่าว และรู้ว่าบริษัทมีตัวตน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง และให้นำไปสู่การตัดสินใจซื้อหรือซื้อซ้ำ

"สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เอสเอ็มอีจะต้องตระหนักคือรูปลักษณ์ที่จะสะกดผู้บริโภคให้สนใจในตัวสินค้าให้ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะจากการวิจัยพบว่าผู้บริโภคจะมีเวลาดูสินค้าอย่างหนึ่งเพียงแค่ 6 วินาทีเท่านั้น หากไม่น่าสนใจก็จะผ่านเลยไปทันที"

 ปฏิรูปเป็น Smart SMEs
นายภานุวัฒน์ ตริยางกรูศรี ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมต้องให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งประเทศ ด้วยรูปแบบต่างๆตามคามสามารถของเอสเอ็มอีแต่ละราย ทั้งการช่วยฝึกอบรม รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยเพื่อให้นำไปสู่การเป็นเอสเอ็มอี 4.0 นอกจากนี้ก็ยังมีกองทุนขนาด 2 หมื่นล้านบาทสำหรับแต่ละภูมิภาค ที่ดูแลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมในการช่วยปฏิรูป เอสเอ็มอีระดับธรรมดา (Regular) ให้กลายเป็นเอสเอ็มอีที่แข็งแรง (Smart)

"การนำผู้เล่นระดับโลกที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้ามา จะช่วยทำให้อสเอ็มอีมทางรอดมากขึ้น โดยใช้การเปลี่ยนแปลงเป็นศูนย์กลางเพื่อให้นำไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมใหม่ โดยกรมวางแผนไว้ว่าใน 5 ปีจะนำผู้เล่นระดับโลกเข้ามาประมาณ 20 ราย และใช้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของไทย 50 ราย สร้างเอสเอ็มอีขึ้นมาให้ได้ 500 ราย ซึ่งแต่ละรายก็จะมีระบบปฏิบัติการ หรือแพลตฟอร์มที่แตกต่างกันออกไป ไม่ใช่รูปแบบเดียวกันทั้งหมด"

 เครื่องมือเร่งไทยแลนด์ 4.0
นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล ผู้อำนวยการ กลุ่มพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยี (BUILD) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ(BOI)กล่าวว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาบีโอไอมี พ.ร.บ. 2 ฉบับใหม่ที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล โดยฉบับหนึ่งเป็นการปรับปรุงจากกฎหมายเดิมที่ใช้มาเป็นเวลานาน ซึ่งในอดีตบีโอไอสามารถให้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้กับผู้ประกอบการสูงสุดไม่เกิน 8 ปี และให้สิทธ์ลดหย่อน 50% ได้ไม่เกิน 5 ปี โดย พ.ร.บ.ใหม่ที่มีการปรับปรุงบีโอไอสามารถให้สิทธิ์การยกเว้นภาษีเงินได้ 100% ได้ถึง 15 ปี และลดหย่อน 50% ได้ 10 ปี

ขณะที่อีกฉบับหนึ่งซึ่งเป็น พ.ร.บ. เพิ่มขีดความสามารถ โดยมีกองทุนประเดิมจากรัฐบาลประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยในการทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) มากขึ้น หรือกิจการที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ กองทุนดังกล่าวนี้ก็จะเข้าไปช่วยสนับสนุน ซึ่ง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนให้กลายเป็นไทยแลนด์ 4.0

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,248
วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2560