"หม่อมอุ๋ย"ค้านจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

27 มี.ค. 2560 | 12:58 น.
"ปรีดิยาธร”ระบุตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ(NOC)ทำประเทศถอยหลัง 50 ปี  กิจการพลังงานสะดุดจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ พร้อมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสนช.พิจารณาคัดค้านการตั้ง NOC

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  ได้ทำจดหมายเปิดผนึก ถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อคัดค้านการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Company หรือNOC) ที่ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับที่ พ.ศ. ซึ่งมีพลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน จะนำร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่มีการแก้ไขแล้วเสร็จ นำเสนอต่อที่ประชุม สนช.เพื่อพิจารณาในวาระที่2 และ3 ในวันที่30 มี.ค.2560 นี้

การคัดค้านการพิจารณาจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ(NOC) ครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าการประชุมวาระแรก ไม่มีการพูดถึงการจัดตั้ง NOC มาก่อน แต่กลับพบว่าจะมีการพิจารณ าNOC ในวาระที่ 2 และ 3 อีกทั้งในบทเฉพาะกาลที่จะพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ยังระบุว่า ให้กรมการพลังงานทหารเป็นผู้ดำเนินการดูแล NOC ไปก่อนจนกว่าจะมีการจัดตั้งผู้ดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป  ทั้งนี้ การแอบซุกซ่อนวาระการพิจารณาเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง  ซึ่งถ้าต้องการให้มี NOC จริง ก็ควรดึงประเด็น NOC ออกมาร่างเป็นกฎหมายเฉพาะ เพื่อเปิดโอกาสให้มีกระบวนการหารือกันด้วยเหตุและผล

ทั้งนี้ หาก สนช.มีมติอนุมัติร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมตามร่างแก้ไขที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ นำเสนอ  จะสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ทันที  ซึ่งหมายความว่ากลุ่มบุคคลที่ต้องการให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ สามารถจะเริ่มผลักดันด้วยการเริ่มเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ  โดยการศึกษาผลดีผลเสียก็คงจะเตรียมกันไว้แล้วในแนวทางที่ต้องการ   หน่วยงานที่เห็นว่ายังไม่มีความพร้อมเพียงพอหรือมองเห็นผลเสียก็คงจะไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะคัดค้านได้

”NOCที่ตั้งขึ้นใหม่นี้จะเป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ” และในระยะเริ่มต้นของการดำเนินการ ให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานที่จะบริหาร NOC นี้ไปก่อน หากเป็นไปตามร่างดังกล่าว กิจการน้ำมันของประเทศจะถอยหลังไป 50ปี ที่กรมพลังงานทหารเคยมี น้ำมัน”สามทหาร”ซึ่งมีส่วนการตลาดน้อยมากและถูกครอบงำโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติเป็นสำคัญ” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เขียนระบุเอาไว้ในจดหมายเปิดผนึก

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมามีการตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.)ขึ้นมาเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่เสมือนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ  ที่ทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว ถ้ามีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาใหม่และใช้ อำนาจที่มีกฎหมายรองรับ ดึงกรรมสิทธิ์ของพลังงานทุกชนิดมาอยู่ที่บรรษัทฯ แห่งนี้  วิสาหกิจและกิจการของบริษัทพลังงานต่างๆหลายแห่งจะดำเนินอยู่ต่อไปได้อย่างไร  ปัญหาอาจลุกลามจนเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ แลกิจการพลังงานซึ่งรุดหน้ามาด้วยดีจะสะดุดจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้