ประมูล 5 ทางคู่ 13 สัญญา เปิดรับเหมารายย่อยชิง-รอความชัดเจนTOR

28 มี.ค. 2560 | 05:00 น.
สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯหนุนแนวคิดซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างผ่าปมประมูล 5 รถไฟทางคู่เปิดโอกาสให้ผู้รับเหมารายย่อยร่วมชิงเค้ก “เนาวรัตน์” รอฟังความชัดเจนทีโออาร์รอบใหม่ด้านร.ฟ.ท.ยันระเบียบพร้อมดำเนินการแต่จับตาภาคปฏิบัติเกิดปัญหาตามมาแน่

นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงกรณียกเลิกประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เพื่อเปิดประมูลใหม่ตามแนวคิดของซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างว่าทีโออาร์ควรเปิดกว้างมากขึ้น สมาคมเห็นด้วยที่จะแบ่งซอยสัญญาจาก 5 สัญญาเป็น 13 สัญญาเพราะสามารถสร้างศักยภาพผู้รับเหมาให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น ทั้งยังช่วยกระจายงาน บางงานผู้ประกอบการรายกลางรายย่อยสามารถทำได้ก็ควรเปิดโอกาส ยกเว้นงานโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ใช้เทคนิคขั้นสูงจึงจะใช้ผู้รับเหมารายใหญ่เข้าไปดำเนินการ

การร่างทีโออาร์รอบใหม่ของร.ฟ.ท.คาดว่าจะเปิดกว้างให้ผู้รับเหมาที่มีมูลค่าสัญญาหลัก 5,000 ล้านบาทขึ้นไปได้เข้าไปทำงานจากนี้ไปงานร.ฟ.ท. คงจะไม่มีเฉพาะรายใหญ่ 4-5 รายที่เคยได้รับงานเป็นประจำเท่านั้น จะมีรายกลางรายย่อยได้เข้าไปรับงานมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติต้องจับตาว่าการประมูลจะสู้ต้นทุนของรายใหญ่ได้หรือไม่ อีกทั้งช่วงที่ผ่านมาผู้รับเหมารายใหญ่ที่ได้งานก็จะกระจายงานให้กับรายกลางรายย่อยรับไปดำเนินการในรูปแบบซับคอนแท็คในแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว

แหล่งข่าวระดับสูงของบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าคงต้องขอรอดูทีโออาร์ใหม่ให้ชัดเจนก่อนว่าจะสู้ประมูลเองหรือยังจะร่วมกับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด(มหาชน) สู้ประมูลต่อไป อีกทั้งขอดูเงื่อนไขการกำหนดคุณสมบัติที่ร.ฟ.ท.จะกำหนดว่ารายกลางรายย่อยสามารถเข้าไปร่วมประมูลได้มากน้อยแค่ไหน

"แม้รถไฟทางคู่จะดูไม่ยุ่งยาก ใช้เทคนิคไม่สูงมาก แต่งานโยธายังต้องเกี่ยวโยงกับงานวางราง หากมีกำหนดทีโออาร์ว่าต้องมีงานวางรางด้วยจะต้องมีการร่วมทุนในรูปแบบกิจการร่วมค้ากับบริษัทที่มีความชำนาญหรือมีผลงานด้านการวางราง ซึ่งในครั้งที่ผ่านมาก็ได้ร่วมกับอิตาเลียนไทยเนื่องจากเนาวรัตน์ไม่มีประสบการณ์ด้านการวางราง แต่มีความชำนาญด้านการเจาะอุโมงค์ ดังนั้นแน่นอนว่ารายกลางรายย่อยจะต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยี เครื่องจักร เครื่องมือและบุคลากรกันมากขึ้น คงต้องจับตาว่าความสำเร็จของงานจะสำเร็จตามแผนหรือไม่"

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเห็นความชัดเจนแล้วว่าจะมีการซอยสัญญา 5 รถไฟทางคู่ซึ่งตามระเบียบของร.ฟ.ท.สามารถทำได้ แต่ภาคปฏิบัติมีปัญหาแน่ อาจส่งผลให้โครงการเกิดความล่าช้า ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มกว่าเดิม และอาจทำงานซ้ำซ้อนกันทั้งงานโยธาและงานระบบอาณัติสัญญาณหรืองานวางราง หากเป็นราย 1-2 รายจะสามารถบริหารจัดการและควบคุมระยะเวลาการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนได้ง่ายกว่า แม้ว่าระเบียบจะเปิดกว้างให้แยกซอยสัญญา แต่ในทางปฏิบัติกลับจะมีผู้เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมมากมาย อาทิ ผู้ตรวจงาน ผู้ควบคุมงาน ในเบื้องต้นขณะนี้ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดการกำหนดชั้นรับเหมา แต่คงจะแบ่งมูลค่าราว 8,000- 1 หมื่นล้านบาท หรือราว 80-100 กม.ในแต่ละสัญญา โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 3 ปี เนื่องจากจะมีงานระบบด้านเทคนิคเข้ามาเกี่ยวข้องอีกมากมาย อาทิ งานวางราง งานระบบอาณัติสัญญาณ งานติดตั้งประแจ เป็นต้น

“อย่ามองเพียงแค่เปิดโอกาสให้ผู้รับเหมารายกลางรายย่อยได้รับงาน แต่มองข้ามผลสัมฤทธิ์ของงานที่จะล่าช้าออกไป เนื่องจากจะมีปัญหาด้านเทคนิคเข้ามาเกี่ยวข้องอีกมาก ส่วนราคาจะเพิ่มหรือไม่ซุปเปอร์บอร์ดบีบไม่ให้เพิ่ม แต่ในการปฏิบัติการแบ่งซอยสัญญาจะต้องเพิ่มงบประมาณแน่ๆ รายกลางรายเล็กจะกล้าประมูลรับงานสู้กับรายใหญ่ที่พร้อมด้านต้นทุนหรือไม่ซึ่งการสร้างรถไฟทางคู่วัตถุประสงค์เพื่อเติมเต็มเส้นทางโลจิสติกส์ให้รวดเร็วทันสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้นหากยิ่งล่าช้าไปเท่าไหร่ก็จะเสียโอกาสมากเท่านั้น คาดว่าการประมูลรอบใหม่จะใช้ระยะ 4-6 เดือนเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีกันใหม่และเริ่มงานก่อสร้างต้นปีหน้า”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,247 วันที่ 26 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2560