อาชญากรรมไซเบอร์พุ่ง เหรียญอีกด้านยุคดิจิตอล

28 มี.ค. 2560 | 03:00 น.
นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่การใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 แต่เหรียญอีกด้านของการเข้าสู่ยุคดิจิตอลกลับเป็นการเพิ่มของสาเหตุอาชญากรรมยุคใหม่ อาชญากรรมไซเบอร์(Cybercrime)

พ.ต.อ.สยาม บุญสม รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ,พ.ต.อ.สัญญา เนียมประดิษฐ์ ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ ปอท. และ พ.ต.ต.พันธุ์ล้าน ปฐมพรวิวัฒน์ สารวัตร กองกำกับการ 1ปอท. ได้ร่วมกันให้สัมภาษณ์“ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภาพรวมของภัยคุกคามทางไซเบอร์ในยุคปัจจุบันว่า ข้อมูลสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)(สพธอ.)พบว่าสถิติภัยคุกคามไซเบอร์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปี 2554 ที่มีผู้เข้าแจ้งความแค่หลักร้อยกรณี เพิ่มเป็นหลักพันตั้งแต่ปี2556 และในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.60) มีจำนวนถึง 842กรณี เทียบช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่มี 713 กรณี (ดูตารางประกอบ)

คดีขึ้นตามการใช้สื่อโซเชียล
ภัยคุกคามไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น ยังสัมพันธ์กับการใช้สื่อโซเชียลของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เรื่อง แนวโน้มการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของครัวเรือนช่วง 5 ปี (ปี2554-2559 ) โดยเฉพาะ ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตได้เพิ่มจากสัดส่วน 26.5% (จำนวน 16.6 ล้านคน) เป็น 47.5 % (จำนวน 29.8 ล้านคน) โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเพิ่มจาก8.0% (จำนวน 5 ล้านคน) ก้าวกระโดดเป็น50.5% (จำนวนผู้ใช้ 31.7 ล้านคน)

การเล่นโซเชียลมีเดียของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดภัยคุกคามไซเบอร์ เพิ่มตามไม่ว่าจะเป็นการโจมตีด้วยไวรัสโปรแกรม (malicious code ) โดยสิ้นปี 2559 มีผู้เข้าแจ้งความแล้วถึง 1,020 กรณี (สัดส่วน 26.86%) เทียบจากช่วงก่อนปี 2556 ที่มีไม่ถึงหลักร้อยกรณีและเป็นตัวเลขเดียวกับภัยของการเจาะเข้าใช้ระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต (Intrusion) ส่วนความผิดที่เกี่ยวกับการหลอกลวงซื้อขายทางออนไลน์ (Fraud) มีสถิติสูงรองลงมา ในสัดส่วนใกล้เคียงคือ 26.39%

ทั้งยังพบว่าภัยคุกคามจากการโจมตีด้วยไวรัสโปรแกรมหรือโปรแกรมไม่พึงประสงค์ (maliciouscode)และการเจาะเข้าใช้คอมพิวเตอร์( Intrusion)ส่วนใหญ่ที่พบจะทำจากต่างประเทศและเผยแพร่เข้าสู่ไทยโดยคนร้ายมีทั้งชาวต่างชาติและคนไทย

รองผู้บังคับการ ปอท. ระบุว่าอาชญากรไซเบอร์ ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น อายุไม่มากและมักเป็นหน้าเดิมที่ทำผิดซ้ำซาก เนื่องจากอุปกรณ์ใช้เพียงคอมพิวเตอร์ ทำได้ทุกสถานที่ และโทษตามกฎหมายไม่มากคือโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 1แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

“อย่างอี-เมล์สแกม (ชนิดของภัยคุกคาม Intrusion) คนร้ายจะเจาะข้อมูลบริษัทที่เป็นเหยื่อและแสร้งทำทีเป็นคู่ค้า หลอกให้โอนเงินโดยบัญชีปลายทางจะอยู่ต่างประเทศ บางรายสูญเสียเงิน 3 - 10 ล้านบาทกว่าเหยื่อจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อยังไม่ได้รับสินค้าแล้วโทร.กลับไปฝั่งคู่ค้าถึงได้รู้ว่าถูกหลอก หรือกรณีของโรมานซ์สแกม (Romance scam) หลอกเหยื่อที่ต้องการหาคู่ผ่านทางโซเชียลมีเดีย คำนวณแล้วก็มีผู้มาร้องทุกข์มากกว่า 100 กรณี บางรายก็ถูกหลอกโดนตั้งแต่หลักแสนบาทไปถึงหลักล้านบาท คิดเป็นวงเงินเสียหายรวมกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะคดีที่มาร้องทุกข์ ปอท.ยังไม่รวมท้องที่อื่น ๆ และที่น่าสังเกตคือคดีอาชญากรรมทางทรัพย์สิน70% ของผู้ตกเป็นเหยื่อจะไม่มีการแจ้งความ ที่เห็นว่าตัวเลขเยอะก็แค่ 30% ของที่เกิดขึ้นจริง”

 เหรียญอีกด้านยุคดิจิตอล
ปอท.ยังได้แสดงความเป็นห่วงว่าขณะนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กำลังพัฒนาอินเตอร์เน็ตเข้าถึงทุกหมู่บ้านทำให้ท้องถิ่นสามารถขายสินค้าโดยไม่ต้องมีหน้าร้านไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางก็สามารถขายสินค้าผ่านหน้าเพจที่สร้างขึ้นแต่ก็เหมือนเหรียญ 2 ด้าน ที่คนร้ายจะสามารถฉวยโอกาสจากตรงนี้ กระทรวงดีอีจึงต้องหาวิธีการให้ความรู้กับคนขาย-คนซื้อเพื่อหาทางป้องกัน

พ.ต.อ.สยาม บุญสม ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้า “พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” ฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 นี้จะเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบมากกว่าเดิม ( พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับเดิม) เช่นการจะสั่งปิดสื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม เว็บการพนัน,เว็บโป๊อนาจาร จะมีระบบการกลั่นกรองที่น่าเชื่อถือกว่าเดิม

“อย่างเว็บการพนันจะสั่งปิดได้ ต้องผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แต่ที่ผ่านมาเว็บการพนันจะไม่ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่ผิดพ.ร.บ.การพนันเลยเป็นปัญหาที่มีคำถามตลอดว่าทำไมยอมให้เปิดพนันออนไลน์ได้ อย่างไรก็ดีกฎหมายคอมพิวเตอร์ใหม่ จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองมีตัวแทนสิทธิจากภาคเอกชน ,ตัวแทนจากภาคสื่อฯลฯ ร่วมอยู่ด้วยเมื่อมีมติออกมา จึงส่งเรื่องถึงปลัดดีอีก่อนที่ปลัดจะยื่นคำร้องขออนุมัติต่อศาลเพื่อสั่งปิดเว็บ”

(ตามต่อตอน2 :แผนประทุษกรรม อาชญากรไซเบอร์ .... )

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,247 วันที่ 26 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2560