บอร์ดบีโอไอเห็นชอบเปิดให้ส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบห่วงโซ่อุปทาน

24 มี.ค. 2560 | 09:15 น.
บอร์ดบีโอไอเห็นชอบเปิดให้ส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบห่วงโซ่อุปทาน เปิดให้เอสเอ็มอีไทยยื่นขอรับส่งเสริมกิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ พร้อมเปิดให้การส่งเสริมกิจการด้านบริการทางการแพทย์

วันนี้ (24 มี.ค.60) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 2/2560 โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

ภายหลังการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้แถลงผลการประชุมว่า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย และสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียานยนต์ของโลก ที่ประชุมจึงเห็นชอบเปิดให้การส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า และกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้านั้น จะให้การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า 3 แบบ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า (Hybrid Electric Vehicle: HEV) และ รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) โดยให้ส่งเสริมการผลิตทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะ และรถโดยสาร และให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ที่แตกต่างกันตามระดับเทคโนโลยีในการผลิต

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของแต่ละประเภทกิจการดังนี้ กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle - HEV) ผู้สนใจขอรับส่งเสริมจะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จะต้องเสนอเป็นแผนงานรวม (Package) ที่ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์ และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญๆ ส่วนสิทธิและประโยชน์จะได้รับเฉพาะการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร  กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle - PHEV) จะต้องเสนอเป็นแผนงานรวม (Package) ที่ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ทั้งนี้หากมีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี

กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle -BEV) จะต้องเสนอเป็นแผนงานรวม (Package) ที่ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์ และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ 5 – 8 ปี ทั้งนี้หากมีการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 10 ปี กิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Bus) จะต้องเสนอเป็นแผนงานรวม (Package) ที่ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์ และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และหากมีการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี โดยกิจการนี้ ที่ประชุมเห็นว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่มีศักยภาพที่จะทำการผลิตได้ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอี ซึ่งจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมากกว่าเกณฑ์ปกติ 2 ปี

กิจการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า ได้เพิ่มชิ้นส่วนอีก 10 รายการที่จะให้การส่งเสริมให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ได้แก่ กิจการผลิตแบตเตอรี่ กิจการผลิต Traction Motor กิจการผลิตระบบปรับอากาศด้วยไฟฟ้าหรือชิ้นส่วน กิจการผลิตระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ กิจการผลิตระบบควบคุมการขับขี่ กิจการผลิต On-Board Charger กิจการผลิตสายชาร์จแบตเตอรี่พร้อมเต้ารับ-เต้าเสียบ กิจการผลิต DC/DC Converter กิจการผลิต Inverter กิจการผลิต Portable Electric Vehicle Charger กิจการผลิต Electrical Circuit Breakerกิจการพัฒนาระบบอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV Smart Charging System) และกิจการผลิตคานหน้า/คานหลังสำหรับรถโดยสารไฟฟ้า และหากตั้งโครงการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และยื่นขอรับส่งเสริมภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2560 จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี กิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า จะต้องเสนอแผนการจัดหาอุปกรณ์และชิ้นส่วน จะต้องเสนอแผนพัฒนาระบบอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV Smart Charging System) จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 โดยให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เปิดส่งเสริมกิจการบริการทางการแพทย์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบริการทางการแพทย์ครบวงจร โดยจะเปิดประเภทให้ส่งเสริม 4 กิจการ ได้แก่ 1. กิจการบริการสาธารณสุขด้านแพทย์แผนไทย เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการบริการในอนาคต โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี 2. กิจการศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ด้านหัวใจ (โรคหลอดเลือดหัวใจ ผ่าตัดหัวใจ และหัวใจล้มเหลว) ด้านมะเร็ง (เคมีบำบัด และรังสีวิทยา) และด้านไต (ศูนย์ไตเทียม) ซึ่งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในลำดับต้นๆของคนไทย ซึ่งจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี  3. กิจการสถานพยาบาล ให้การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เฉพาะเพื่อเป็นการกระจายการให้บริการไปอย่างทั่วถึงสำหรับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล โดยให้การส่งเสริมกิจการสถานพยาบาลเฉพาะใน 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ หรือใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน ซึ่งจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี  4. กิจการบริการขนส่งผู้ป่วย แพทย์ หรืออุปกรณ์การแพทย์ ทั้งทางอากาศ ทางบก ทางเรือ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลได้รวดเร็ว โดยจะให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการด้านพลังงานรวม  4 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 161,300 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.บริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี  ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติ กำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์  เงินลงทุนทั้งสิ้น 59,000 ล้านบาท  ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดชลบุรี

2.บริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติ กำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 58,800 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดระยอง

3. บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการขนส่งก๊าชธรรมชาติทางท่อ ระยะทางรวม 59 กิโลเมตร ผ่านจังหวัด สระบุรี ชลบุรี และระยอง ปริมาณการขนส่งก๊าชธรรมชาติรวม 109,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี โดยเป็นการลงทุนเพื่อขยายอายุการใช้งานระบบขนส่งทางท่อเดิม (ท่อก๊าชธรรมชาติบนบกเส้นที่ 1)  เพื่อให้สามารถขนส่งก๊าชให้ลูกค้าโรงไฟฟ้า อุตสาหกรรม และภาคขนส่ง ได้ต่อเนื่องและได้มาตรฐาน เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท

4.บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือบรรทุกสินค้า โดยโครงการจะให้บริการขนถ่ายก๊าชธรรมชาติเหลว (LNG) ปีละประมาณ 9,000,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 38,500 ล้านบาท ตั้งโครงการที่ จังหวัดระยอง