อินโดฯ นิรโทษภาษีได้ผลเศรษฐีพาเหรดเข้าระบบ

28 มี.ค. 2560 | 00:00 น.
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โครงการนิรโทษกรรมภาษีของอินโดนีเซีย ประสบผลสำเร็จเมื่อสิ้นโครงการมีผู้เสียภาษีกว่า7 แสนราย ยื่นแสดงรายการสินทรัพย์เพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มกว่า 330,000 ล้านดอลลาร์(ประมาณ 11.55 ล้านล้านบาท)

โครงการนิรโทษกรรมภาษีของประธานาธิบดีอินโดนีเซียนายโจโควี วิโดโด เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบภาษีของอินโดนีเซียภายใต้การแนะนำของธนาคารโลก โดยก่อนหน้านี้นักธุรกิจและคนร่ำรวยชาวอินโดนีเซีย มักจะหลีกเลี่ยงการเสียภาษี โดยซ่อนสินทรัพย์ไว้ในบัญชีต่างประเทศ ทำรายได้จากการเสียภาษีของอินโดนีเซียต่ำกว่าความเป็นจริง
โครงการนิรโทษกรรมภาษีของอินโดนีเซีย ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษี ยื่นแสดงสินทรัพย์ที่ไม่เคยเสียภาษีมาก่อนเพื่อการเสียภาษีปรกติโดยไม่ต้องเสียค่าปรับและไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย ทำให้มีคนเสียภาษีที่ร่ำรวยจำนวนมากถือโอกาสนี้นำสินทรัพย์ที่ส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศกลับมาอยู่ในระบบภาษีของประเทศโดยไม่ต้องกังวลเรื่องโทษจากการเลี่ยงภาษีอีกต่อไปทำให้รัฐบาลได้ภาษีเพิ่มขึ้นในครั้งเดียวจำนวนมากแต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าในรอบปีภาษีต่อไปรายได้จะกลับมาอยู่ในระดับปกติ

รอยเตอร์รายงานว่ารัฐบาลอินโดนีเซีย มีภาระหนักในการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีอย่างเร่งด่วนเพื่อให้รัฐบาลได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมภาษีในระยะยาว โดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังนางศรี มุลยานิ อินทราวดี ตั้งเป้าการปฏิรูปภาษีว่าจะต้องดันให้สัดส่วนภาษีต่อผลิตภัณฑ์มวลประเทศ (จีดีพี) ให้เพิ่มจากประมาณ 11 % ในปัจจุบันเป็น 15 % ภายในปี 2563

ธนาคารโลกระบุว่าสัดส่วนภาษีต่อจีดีพีของอินโดนีเซียที่ 11 % ในขณะนี้ยังต่ำกว่า อัตราส่วนเฉลี่ยของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 14.8 % ในปี 2557

รอยเตอร์ระบุว่ารัฐบาลได้ส่งร่างกฎหมายทางด้านภาษีเข้าสู่รัฐสภาหลายฉบับเพื่อเร่งปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีโดยนายดารุสซาลาม หุ้นส่วนของบริษัทที่ปรึกษา แดนนี่ดารุสซาลามแท็กซ์เซ็นเตอร์ ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่า “คนไม่เสียภาษีเพราะเชื่อว่าทางการไม่มีระบบตรวจสอบที่สามารถจับคนเลี่ยงภาษีได้”

ประเด็นสำคัญในกฎหมายใหม่คือการให้อำนาจสรรพากรเข้าถึงข้อมูลของธนาคาร ซึ่งทางฝ่ายการเมืองระบุว่าจะต้องใช้นานกว่าจะผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ทำให้ประธานาธิบดีวิโดโด ให้สัมภาษณ์สื่อในประเทศว่า จะออกประกาศฉุกเฉินกลางปีนี้ให้สรรพากร เข้าถึงข้อมูลทางการเงินของผู้เสียภาษีได้ โดยไม่รอกระบวนการทางรัฐสภา
นอกจากการออกกฎหมายใหม่แล้ว รอยเตอร์ระบุว่ารัฐบาลอินโดนีเซีย ต้องเพิ่มจำนวนคนเก็บภาษีให้มากขึ้น ทำให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนคนเก็บภาษีกับจำนวนผู้ที่อยู่ในข่ายเสียภาษีตํ่า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,247 วันที่ 26 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2560