เวียดนามโหมโครงสร้าง ดึงทุนนอกเข้าประเทศ

26 มี.ค. 2560 | 08:00 น.
เวียดนามครองแชมป์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสูงสุดในอาเซียน เร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าประเทศต่อเนื่อง หวังผงาดเป็นเสือเศรษฐกิจ

ธนาคารพัฒนาเอเชีย เผยว่า ในปีที่ผ่านมา การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของเวียดนาม ทั้งภาครัฐและเอกชน คิดเป็น 5.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งสูงสุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับจีนแผ่นดินใหญ่ที่อยู่ที่ 6.8% ส่วนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน น้อยกว่า 3% ขณะที่มาเลเซียและไทยมีค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน ต่ำกว่า 2%

ธนาคารพัฒนาเอเซีย คาดการณ์ว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องลงทุนมากที่สุดถึง 26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน 13 ปีนี้ เพื่อการสร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้าและน้ำ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ซึ่งเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ที่กำลังทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ให้ผงาดทางเศรษฐกิจเป็นเสือแห่งเอเชียเหมือนที่หวังไว้

นายยูจีเนีย วิคตอริโน นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ ในสิงค์โปร์ แสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลของเวียดนามทราบดีว่าหากต้องการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ค่าจ้างขั้นต่ำนั้นคงไม่เพียงพอ การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอจะดึงดูดให้บริษัทเข้ามาตั้งโรงงานมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาสนามบินและถนนหนทาง

จากการจัดอันดับด้านโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย นอกจากจีนขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแล้ว ยังมีเวียดนามที่ขึ้นครองอันดับที่ 2 และตามด้วยอินเดีย อินโดนีเซีย เมียนมาร์ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ส่วนประเทศไทยนั้น ได้รับการจัดอันดับรั้งท้ายสุด และเนื่องจากการใช้ยุทธศาสตร์การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของเวียดนาม ส่งผลให้เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นแนวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยปีที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 1.58 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านธนาคารโลก คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของเวียดนามจะขยายตัวมากกว่า 6% ไปจนถึงปี 2562

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเวียดนามจะต้องเผชิญกับความท้าทาย โดยในช่วง 4 ปีนับจากนี้ เวียดนามจำเป็นต้องใช้เงินราว 4.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามากถึง 11 โรง ขนาดกำลังผลิตรวม 13,200 เมกะวัตต์ และถนนราว 1,380 กิโลเมตร โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเหวียนซวนฟุก นายกรัฐมนตรีของเวียดนาม ได้มีคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเร่งวางแผนเพิ่มการจัดสรรงบประมาณสำหรับใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาคเอกชน โดยสัดส่วนของการลงทุนภาคเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานของเวียดนามมีน้อยกว่า 10% เทียบกับภาคเอกชนในอินเดียที่มีบทบาทสำคัญในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า 30% ในปีที่ผ่านมา
ด้านประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ ประธาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ก็ตั้งเป้าหมายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ 7% ของจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใน 6 ปี ส่วนประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ของอินโดนีเซีย พยายามเร่งให้ก่อสร้างทางรถไฟ ที่มีระยะทาง 720 กิโลเมตร จากจาร์กาต้าไปสุราบายา เช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,247 วันที่ 26 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2560