อียู-อังกฤษวางแนวเจรจา เริ่มถก29มี.ค.ประเดิม‘การค้า-ต่างชาติเข้าเมือง’

26 มี.ค. 2560 | 01:30 น.
ยุโรปและอังกฤษเตรียมเปิดฉากกระบวนการเจรจาเป็นเวลา 2 ปี โดยมีประเด็นสำคัญทั้งเรื่องการค้าและการเข้าเมืองของชาวต่างชาติ หลังนายกรัฐมนตรีอังกฤษแจ้งว่าจะเริ่มต้นใช้มาตรา 50 เพื่อออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในวันที่ 29 มีนาคมนี้

รัฐบาลอังกฤษเปิดเผยในสัปดาห์นี้ว่า เตรียมแจ้งต่อสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการเรื่องการใช้มาตรา 50 เพื่อถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกในวันที่ 29 มีนาคมนี้ ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นกระบวนการเจรจาในกรอบเวลา 2 ปี และจะทำให้อังกฤษสิ้นสุดสถานะการเป็นสมาชิกอียูราวๆ เดือนมีนาคม 2562 หลังจากชาวอังกฤษลงมติเมื่อปีที่ผ่านมาว่าต้องการถอนตัวออกจากอียู

อย่างไรก็ตาม หนทางของการแยกตัวจากอียูของอังกฤษยังต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญในช่วงระยะเวลา 2 ปีของการเจรจา โดยต่างฝ่ายต่างต้องการข้อตกลงที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง และมีความเป็นไปได้ที่ช่วงเวลา 2 ปีอาจจะไม่เพียงพอให้อังกฤษและอียูบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้

นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวระหว่างการเดินสายพบปะผู้คนตามเมืองต่างๆ ของสหราชอาณาจักรก่อนเริ่มต้นกระบวนการถอนตัวจากอียูอย่างเป็นทางการในสัปดาห์นี้ว่า เป้าหมายของรัฐบาลมีความชัดเจน คือต้องการข้อตกลงที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนในทุกภูมิภาคของสหราชอาณาจักร

"ดิฉันตั้งเป้าหมายเอาไว้แล้ว ซึ่งประกอบด้วยการบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีที่ดี ชูประเด็นความร่วมมือในเรื่องต่างๆ เช่น ความมั่นคง เป็นหลัก เราจะเจรจาอย่างเต็มที่ และบรรลุในสิ่งที่ชาวอังกฤษลงมติ" นางเมย์กล่าว

ขณะเดียวกัน ทางฝั่งของอียูได้กำหนดการประชุมสุดยอดวาระพิเศษเพื่อตอบสนองต่อการถอนตัวของอังกฤษในวันที่ 29 เมษายน โดยการประชุมดังกล่าวจะเป็นเวทีให้กับผู้นำของประเทศสมาชิกวางแนวทางในการเจรจาอย่างเป็นทางการ โดยมีคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นผู้ดำเนินการประชุม

นายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวว่า "สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเราในเจรจา คือการสร้างความแน่นอนและชัดเจนให้ได้มากที่สุดสำหรับประชาชน บริษัท และประเทศสมาชิกทั้งหมดที่จะได้รับผลกระทบด้านลบจากเบร็กซิท"

ทั้งนี้การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายจะครอบคลุมประเด็นต่างๆ หลากหลายประเด็น โดยนางเมย์แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าอังกฤษต้องการอำนาจในการควบคุมการเข้าเมืองของคนต่างด้าวกลับคืนมา และส่งสัญญาณว่าจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพศุลกากรและตลาดเดียวของยุโรป พร้อมกับกล่าวว่าพร้อมจะก้าวออกจากโต๊ะเจรจาโดยไม่มีการบรรลุข้อตกลงถ้าอังกฤษไม่ได้ข้อตกลงที่ดี

ขณะที่นายมิเชล บาร์เนียร์ หัวหน้าผู้เจรจาเบร็กซิทของอียู เปิดเผยแผนการหลักของการเจรจาใน 3 ประเด็น โดยยืนยันว่าอียูต้องการให้ทั้ง 2 ฝ่ายบรรลุข้อตกลงร่วมกันให้ได้ ซึ่งหากการเจรจาล้มเหลวจะนำมาซึ่งความไม่แน่นอนอย่างยิ่ง
สำหรับประเด็นสำคัญในการเจรจาประกอบไปด้วย สิทธิของชาวต่างชาติที่อยู่ในอังกฤษ รวมไปถึงสิทธิของชาวอังกฤษที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ใดๆ ได้บ้างหลังอังกฤษถอนตัวจากอียูแล้ว ขณะที่ประเด็นของข้อตกลงการค้า นายบาร์เนียร์กล่าวว่า ยุโรปเองก็ต้องการข้อตกลงการค้าเสรีที่ดีเข้ามาทดแทนความสัมพันธ์ในปัจจุบันเช่นเดียวกับอังกฤษ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขจะไม่เอื้อประโยชน์มากเท่ากับในปัจจุบัน และอังกฤษจะไม่สามารถเลือกเฉพาะเงื่อนไขที่ตนเองได้ประโยชน์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,247 วันที่ 26 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2560