เปิดประตูเมียนมา อุตสาหกรรม‘เมืองปะเต็ง’

26 มี.ค. 2560 | 06:00 น.
TP19-3247-f ระยะหลังนี้คนรู้จัก“เมืองพะสิม” (Bassein) ในชื่อของ “เมืองปะเต็ง” (Pathein) มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสาธารณรัฐสหภาพ “เมียนมา” ได้เผยแพร่ศักยภาพของเมืองเอกแห่งนี้สู่สายตานานาชาติในฐานะเมืองอู่ข้าวอู่น้ำของเขตการปกครองอิรวดี (Ayeyarwaddy) ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวมาอย่างยาวนาน เมื่อมองด้านการพัฒนา “ปะเต็ง” ถูกยกให้เป็น นิคมอุตสาหกรรมปะเต็ง (Pathein Industrial City) โดยรัฐบาลร่วมกับเอกชน หวังสร้างให้เป็นเขตเศรษฐกิจนำร่องแห่งใหม่ของเมียนมา ใน “ภาคการผลิตแบบครบวงจร” เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติในสาขาต่างๆ

เมืองปะเต็ง ถือเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเมียนมา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำพะสิม ครอบคลุมพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของเมียนมา เมืองนี้มีประชากรในสัดส่วน 40% ของประเทศ ความหนาแน่นประชากร 177 คนต่อตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่กว่า85% ทำงานในภาคการเกษตร นับเป็นการกระจุกตัวของแรงงานภาคการเกษตรที่สูงสุดในเมียนมา และเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในอุตสาหกรรมภาคการเกษตร เช่น ข้าว ถั่ว ข้าวโพด งาดำ สิ่งทอ ป่าไม้ อุปกรณ์ด้านการเกษตร รวมถึงอุตสาหกรรมประมงในตอนใต้และตะวันตกของเขตอิรวดี ซึ่งติดกับทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอล

TP19-3247-d นิคมอุตสาหกรรมปะเต็ง (Pathein Industrial City) หรือ PIC ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลอิรวดีนับตั้งแต่ปี 2555 และได้รับความเห็นชอบจาก Myanmar Investment Commission หรือ MICในปี 2559 เพื่อการเดินหน้าพัฒนาการลงทุน โดยมีบริษัท Ayeyawaddy Development Public Co. Ltd. เป็นผู้พัฒนาและดูแลโครงการต่างๆ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เมื่อมองโอกาสของบรรดานักลงทุนจากประเทศไทยที่ต้องการก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งของ นิคมอุตสาหกรรมปะเต็ง (Pathein Industrial City) ในขณะนี้ นับว่าเป็นจังหวะเหมาะสมที่เหล่าผู้ประกอบการต้องเริ่มศึกษาตลาด สร้างความพร้อมให้กับตัวเอง เศรษฐกิจเมียนมาปัจจุบันกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง อยู่ระหว่างการเปิดโอกาสและสนับสนุนให้นักลงทุนเข้ามาช่วยพัฒนาพร้อมลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว เมียนมาได้ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เนื่องจากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในทุกมิติ และยังคงยึดประเทศไทยเป็นแบบอย่างของความสำเร็จ ทั้งได้มีการเยี่ยมเยือน หารือในเวทีรูปแบบต่างๆ ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในระดับต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผ่านความร่วมมืออย่างสมาคมนักธุรกิจไทย-เมียนมา เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลเมียนมาได้พยายามสร้างงานในสาขาต่างๆ ให้กับประชาชนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสาขาการแปรรูปอาหาร หรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง เน้นตลาดภายในประเทศ และอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่ง “ประเทศไทย” ยังคงได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปช่วยสนับสนุนและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อยู่เสมอ โดยเฉพาะการที่ไทยได้ร่วมพัฒนาเมียนมาให้เปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมอุตสาหกรรมในวาระต่างๆ อย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความได้เปรียบของประเทศไทยที่สามารถจับมือและก้าวไปพร้อมๆ กับเมียนมาในภาคธุรกิจได้ไม่ยาก

ดังนั้นก้าวต่อไปของการสร้าง นิคมอุตสาหกรรมปะเต็ง ของเมียนมาครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ด้วยวิธีการสร้างตัวเองให้เป็นฐานการผลิต ทดแทนการนำเข้า เน้นการส่งออก และมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ท่ามกลางปัจจัยความพร้อมรอบด้าน ทำเลที่ตั้งสามารถเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์ครอบคลุมการขนส่งทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ที่สำคัญคือการสนับสนุนจากรัฐบาลเมียนมาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่เป็นส่วนหนึ่งของ MOU ระหว่างประเทศ จะเป็นพื้นฐานสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
และนี่คือ “เมืองปะเต็ง” (Pathein) เมืองที่มาพร้อมกับภาพลักษณ์ใหม่ๆ ของ สาธารณรัฐสหภาพเมียนมา ประตูการค้าที่มีศักยภาพและเป็นโอกาสของบรรดานักลงทุนโดยเฉพาะ “ประเทศไทย”

พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,247 วันที่ 26 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2560