จับมือเกาหลีหนุนเกาหลี ยกระดับเอ็สเอ็มอีไทยเข้า mai

26 มี.ค. 2560 | 08:00 น.
นอกจากการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อีกภารกิจหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน ที่จะต้องเร่งผลักดันดูจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ให้สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างไร ซึ่ง"ฐานเศรษฐกิจได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ถึงการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีหลังจากนี้ไป

 เน้นช่วยเหลือเอสเอ็มอี4กลุ่ม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ให้เห็นว่า ภารกิจที่กำลังดำเนินงานอยู่ในเวลานี้ ได้วางแนวทางการเข้าไปส่งเสริมไว้ 4 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก จะเป็นผู้ประกอบการใหม่หรือสตาร์ทอัพ ที่ดำเนินงานแล้ว 1 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีการนำนวัตกรรมมาใช้ ส่วนกลุ่มที่ 2 จะเป็นผู้ประกอบการที่ประกอบการมาแล้ว 5-6 ปี หรือสปริงอัพ ถือเป็นกลุ่มที่ดำเนินงานมาค่อนข้างดี แต่จะทำอย่างไรให้สามารถปรับเปลี่ยนทั้งเทคโนโลยี เพื่อยกระดับเข้าไปสู่เวทีโลกให้ได้ และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่พร้อมจะต่อยอดเข้าสู่ตลาดโลก และกลุ่มที่ 4 กลุ่มที่ยังประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ แต่ยังมีศักยภาพที่จะประกอบการต่อไปได้

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานนั้น ที่ผ่านมาได้มีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการออกมามาตรการต่างมาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงิน การมีกองทุนต่างๆ ในการปล่อยสินเชื่อ มาตรการทางภาษี การฝึกอบรม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ต่างจังหวัด ได้มีศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือ SME Rescue Center เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านการรวบรวมปัญหาและหาแนวทางฟื้นฟู ส่งต่อปัญหาไปยังหน่วยงานพันธมิตร เน้นการแก้ปัญหาการเงิน การจัดหาตลาด การให้คำปรึกษา การต่อยอดธุรกิจ ซึ่งหน่วยงานพันธมิตรอย่างสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือสสว.ก็มีกองทุนพลิกฟื้น วงเงิน 2,000 ล้านบาท ช่วยดูแลอยู่ เป็นต้น

 กองทุน2หมื่นได้ใช้เม.ย.
ขณะเดียวกันรัฐบาลได้อนุมติงบวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีในแนวทางประชารัฐ เพื่อพัฒนาและช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งจะเป็นการปรับโครงสร้างเอสเอ็มอีครั้งใหญ่ ที่ไม่ได้เป็นการให้เฉพาะสินเชื่อ แต่ต้องการให้เกิดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเต็มพื้นที่ทุกกลุ่มจังหวัดในระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งกงทุนดังกล่าวคาดว่าจะปล่อยได้ประมาณเดือนเมษายนนี้

ดังนั้น ในการสร้างเอสเอ็มอีขึ้นมาจากปกติปีละ 6-7 พันราย เมื่อมีกองทุนนี้เกิดขึ้นแล้ว การสร้างเอสเอ็มอีใหม่จะขยายไปถึง 1-2 หมื่นรายต่อปีได้

 จับมือเกาหลีพัฒนา
ส่วนเอสเอ็มอีจะก้าวไปสู่ตลาดโลกได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ดูว่าจะออกไปเจาะตลาดไหนก่อน ให้เหมาะกับลักษณะของสินค้า และนำข้อมูลแต่ละหน่วยงานมาเชื่อมโยงกัน รวมถึงเอกชนรายใหญ่ ก็ต้องลงมาช่วยเอสเอ็มอีพาไปหาตลาดด้วย

อย่างกรณีของเกาหลีขณะนี้ก็ต้องการความร่วมมือจากไทย ซึ่งที่ผ่านมามีหน่วยงานที่ดูแลเอสเอมเอ็มอีได้มาหารือ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐต่อรัฐขึ้นมา เพื่อยกระดับเอสเอ็มอีขึ้นมา ไม่เพียงแต่การจับคู่ทางธุรกิจเท่านั้น แต่จะนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์สนับสนุนด้านเทคโนโลยีของทั้ง 2 ประเทศ ขึ้นมา 2 แห่ง ทั้งไทยและเกาหลี ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต โดยเฉพาะไทยกำลังส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ก็จะช่วยกันส่งเสริมได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงการจับมือกันนำสินค้าออกไปสู่ตลาดโลก เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็มีการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีที่เริ่มดำเนินการหรือกลุ่มสตาร์ทอัพ เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นแหล่งระดมเงินทุนระยะยาว แหล่งเงินทุนหมุนเวียน ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน ช่วยขยายตลาดและธุรกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

นอกจากนี้ การที่มีกองทุนร่วมทุนต่างประเทศหรือเวนเจอร์แคปปิตอลฟันด์ แสดงความสนใจ ที่จะเข้ามาร่วมลงทุนกับเอสเอ็มอีของไทย ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเค้ามองเห็นถึงศักยภาพเอสเอ็มอีของไทย ดังนั้น การเข้าร่วมทุนดังกล่าว จะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และเสริมทัพให้มีความแข้งแกร่งด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,247 วันที่ 26 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2560