รฟม.ย้ำมาตรการความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกสาย

23 มี.ค. 2560 | 10:54 น.
รฟม. เน้นย้ำมาตรการความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกสาย พร้อมกำชับให้ผู้รับจ้างดูแลและเยียวยาผู้เสียหายกรณีเกิดอุบัติเหตุอย่างเหมาะสม

23 มีนาคม 2560 - นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง) พร้อมด้วยผู้แทนกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา PCGRN และผู้แทนผู้รับจ้างงานก่อสร้างทุกสัญญา ร่วมชี้แจงถึงกรณีอุบัติเหตุที่ผ่านมา พร้อมเน้นย้ำมาตรการด้านความปลอดภัยของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 9 รฟม.

นายภคพงศ์ กล่าวว่า จากอุบัติเหตุอุปกรณ์ช่วยยกคานรองรับทางวิ่งรถไฟฟ้า  (Lifting Frame) ได้ร่วงหล่นลงมาบนถนนพหลโยธิน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 และอุบัติเหตุอุปกรณ์เทคอนกรีตโครงสร้างเสารองรับทางวิ่งรถไฟฟ้า (Concrete Bucket) ทำให้น้ำปูนไหลใส่รถยนต์ที่จอดติดไฟแดงบริเวณหน้าโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ถนนพหลโยธิน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 นั้น รฟม. รู้สึกเสียใจและขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ รฟม. มิได้นิ่งนอนใจและได้เรียกที่ปรึกษาควบคุมโครงการและผู้รับจ้างทุกสัญญา ได้แก่ ผู้รับจ้างสัญญาที่ 1 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างสัญญาที่ 2 กิจการร่วมค้า UN-SH-CH ผู้รับจ้างสัญญาที่ 3 กิจการร่วมค้า STEC-AS-3 และ ผู้รับจ้างสัญญาที่ 4 กิจการร่วมค้า STEC-AS-4 มาประชุมโดยทันทีเพื่อกำชับให้ดำเนินงานก่อสร้างโครงการให้มีความปลอดภัยตามนโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ปี 2558 และปฏิญญาว่าด้วยความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ปี 2558 ซึ่ง รฟม. ได้มีมาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดย ผู้ว่าการ รฟม. ได้สั่งการให้ผู้รับจ้างสัญญา 1 และสัญญา 2 หยุดการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการยกของขึ้นที่สูง การทำงานในที่สูงและการป้องกันวัสดุตกหล่นจากทางวิ่งรถไฟฟ้าที่ติดตั้งไปแล้ว และให้ที่ปรึกษาควบคุมโครงการตรวจสอบอุปกรณ์ ขั้นตอนการก่อสร้าง ว่ามีมาตรการด้านความปลอดภัยสูงสุดแล้วหรือไม่ และต้องปรับปรุงขั้นตอนต่างๆ ให้เสร็จสิ้นก่อนจึงให้ปฏิบัติงานต่อไปได้

นอกจากนี้ รฟม. ได้กำหนดมาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดเหตุในลักษณะเช่นนี้อีก โดยในเหตุการณ์อุปกรณ์ช่วยยกคานรองรับทางวิ่งรถไฟฟ้า  (Lifting Frame) ได้ร่วงหล่นลงมาบนถนนพหลโยธิน ได้ให้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนอุปกรณ์ยก/ยึด Lifting Frame ใหม่ทั้งหมด และในการยก/ยึด Lifting Frame จะต้องมีมาตรการความปลอดภัยสำรอง (Secondary measure) สำหรับกรณีอุปกรณ์ชำรุดทุกครั้ง ส่วนการช่วยเหลือเยียวผู้เสียหาย รฟม. กำชับให้ผู้รับจ้างเยียวยาและดูแลผู้เสียหายอย่างใกล้ชิด โดยให้จัดรถยนต์ให้ผู้เสียทั้ง 2 รายใช้ทดแทนชั่วคราว สำหรับกรณีรถยนต์เสียหายหนักจะต้องจัดหารถยนต์คันใหม่ทดแทนให้กับผู้เสียหายด้วย ซึ่งขณะนี้ผู้รับจ้างได้เจรจาตกลงค่าเสียหายต่างๆกับผู้เสียหายจนได้ข้อยุติแล้ว

สำหรับกรณีน้ำปูนไหลใส่รถยนต์นั้น รฟม. ได้กำหนดมาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดเหตุในลักษณะเช่นนี้อีก โดยให้กิจการร่วม UN-SH-CH ปิดช่องทางจราจรเพิ่มขึ้น 1 ช่องทาง เพื่อเบี่ยงการจราจรขณะมีการเทคอนกรีตและเพิ่มผ้าใบ (Blue Sheet) เพื่อป้องกันเหตุที่เกิดจากการเทคอนกรีตในลักษณะเช่นนี้อีก ด้านการเยียวยาผู้เสียหายนั้น รฟม. ได้ให้ผู้รับจ้างเยียวยาและดูแลผู้เสียหายอย่างใกล้ชิด โดยจัดรถยนต์ให้ใช้ทดแทนชั่วคราวระหว่างการซ่อม และนัดผู้เสียหายเจรจาเพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ รฟม. ได้มีนโยบายให้ผู้รับจ้างดำเนินงานตามมาตรการด้านความปลอดภัยระหว่างก่อสร้างอย่างเข้มงวดและเคร่งครัด (Zero Fatal Accident) กับโครงการรถไฟฟ้าทุกสายของ รฟม. รวมถึงกำหนดบทลงโทษแก่ผู้รับจ้างกรณีเกิดอุบัติเหตุ และกำชับให้ผู้รับจ้างดูแลเยียวยาผู้เสียหายกรณีเกิดอุบัติเหตุอย่างเหมาะสมโดยทันที