ทางออกนอกตำรา : ยกมาตรา61 ไล่ล่า! รีดภาษี”โอ๊ค-เอม” โทษฐานตัวการตัวแทน

22 มี.ค. 2560 | 07:57 น.
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา /หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ/ ฉบับ 3246  ระหว่างวันที่ 23-25 มี.ค.2560

ยิ่งใกล้วันที่ 31 มีนาคม 2560 มากขึ้นเท่าใด ข้าราชการกรมสรรพากรต่างตกอยู่ในอาการกล้าๆกลัวๆ ในการเรียกเก็บภาษีหุ้นจาก"ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี และคนในครอบครัวจากการขายหุ้นนอกตลาดในราคาหุ้นละ 1 บาท แล้วมาขายในตลาดหุ้น 49.25 บาท ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินยึดทรัพย์ทักษิณ 4.6 หมื่นล้านบาทไปแล้ว
และศาลได้ทิ้งทุ่นในคำพิพากษาไว้ชัดเจนว่าการโอนหุ้นจากแอมเพิลริช ไปให้ "พานทองแท้-พิณทองทา ชินวัตร" นั้นเป็นนิติกรรมอำพราง เจ้าของตัวจริงยังเป็น “ทักษิณ-พจมาน” บุตรทั้ง 2 เป็นเพียงตัวแทน

ตรงนี้จึงเป็นมูลเหตุที่ศาลภาษีอากรกลางตัดสินเพิกถอนการประเมินภาษี พานทองแท้-พิณทองทา โดยอ้างการวินิจฉัยศาลฎีกาฯ
ผมไปไล่เลียงเหตุการณ์ในขณะนั้น พบว่า สำนักงานอัยการสูงสุดให้คำแนะนำกรมสรรพากรไม่ให้อุทธรณ์ แต่ “สุภา ปิยะจิตติ”รองปลัดกระทรวงการคลังในตอนนั้น เสนอ “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรมว.คลังตอนนั้น ให้กรมสรรพากรดำเนินการประเมินภาษีจากบุคคลที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงเมื่อ 2 พฤษภาคม 2554

ต่อมา “สาธิต รังคศิริ” อธิบดีสรรพากรในขณะนั้น สั่งให้ยุติการเก็บภาษี โดยอ้างว่าเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จึงได้รับการยกเว้นภาษี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 และปล่อยเรื่องนี้ให้หมดอายุความการในออกหมายเรียกให้เจ้าของที่แท้จริงมาเสียภาษีเมื่อ 31 มีนาคม 2555
เรื่องนี้ฉาวโฉ่ขึ้นมาเมื่อ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งเตือนกรมสรรพากรให้ทำหน้าที่ หากไม่ดำเนินการจะส่งเรื่องให้ป.ป.ช.พิจารณฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 แค่นี้ก็ร้อนฉ่ากันทั้งริมคลองประปายันทำเนียบรัฐบาล

ข้อมูลในทางลึกระบุว่า ในการประชุมร่วมกันระหว่างกรมสรรพากร  กระทรวงการคลัง สตง. ปปง. ป.ป.ช.ตามที่ "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ 2 ครั้งในสัปดาห์ก่อน ต้องมีการโหวตลงมติกันทีเดียว

รองฯวิษณุต้องถามกลางที่ประชุมว่า มีใครเห็นว่าไม่สามารถเก็บภาษีบ้าง ปรากฎว่ามี ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร คนเดียวที่เห็นว่าหมดอายุความ จะใช้มาตรา 19 มาตรา 20 ไปเรียกเก็บไม่ได้   แต่"อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" รมว.คลัง กลับยกมือโหวตเห็นชอบให้มีการเรียกภาษีตามข้อเสนอของสตง.

หลายคนสงสัยว่า สตง.เสนออย่างไร ข้อมูลในทางลึกระบุว่า สตง.เสนอให้จัดเก็บตามมาตรา 61   แต่กรมสรรพากรแจ้งว่าทำไม่ได้ เพราะต้องออกหมายเรียก แต่สตง.เห็นแย้งว่าไม่จำเป็นต้องมีหมายเรียก

ที่ประชุมจึงได้ข้อสรุปว่า การจัดเก็บภาษีตามมาตรา 61 ของประมวลรัษฎากรยังใช้ได้ แม้ว่ากรมสรรพากรจะบอกว่า ทำไม่ได้ เพราะต้องมีการออกหมาย แต่รองฯวิษณุบอกว่า เรื่องการออกหมายให้ถือว่า ถ้าตัวแทนรู้ ตัวการก็ต้องรู้ ส่วนการประเมินมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ต้องเร่งประเมินเพื่อเรียกเก็บต่อไป และเพื่อให้ผู้ถูกประเมินได้รับความยุติธรรม มีสิทธิ์อุทธรณ์หรือต่อสู้คดีในศาลภาษีอากรได้ เป็นทางออกที่ดีที่สุด
เราลองไปดูประมวลรัษฎากรมาตรา 61 กันดูว่าเขาขียนไว้ว่าอย่างไร มาตรา 61 ระบุว่า "บุคคลใดมีชื่อในหนังสือสำคัญใด ๆ แสดงว่า
(1) เป็นเจ้าของทรัพย์สินอันระบุไว้ในหนังสือสำคัญ และทรัพย์สินนั้นก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน หรือ (2) เป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินโดยหนังสือสำคัญเช่นว่านั้น
เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมดจากผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญนั้นก็ได้ แต่ถ้าบุคคลนั้นต้องโอนเงินได้พึงประเมินให้แก่บุคคลอื่น บุคคลนั้นมีสิทธิหักเงินภาษีจากจำนวนเงินซึ่งต้องโอนให้แก่บุคคลอื่นตามส่วน"
นั่นหมายถึงว่า การดำเนินการหลังจากนี้ไปกรมสรรพากรจะต้องดำเนินการตามนี้ และต้องประเมินเพื่อเรียกเก็บภาษีในวงเงินร่วม 1.6 หมื่นล้านบาท จากการซื้อขายหุ้นจากทักษิณที่เป็นตัวการ หรือไม่ก็ต้องเก็บจากตัวแทนซึ่งก็คือ พานทองแท้และพิณทองทา ที่เป็นนอมินีของ" T.Chinnawatara "ที่เอกสารสำคัญระบุว่า เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแต่เพียงผู้เดียวในบริษัท แอมเพิลริช

ในที่สุดทางออกของกฎหมายอภินิหาร (miracle of law) ก็มีทางออกนั่นคือ เรียกเก็บจากตัวการตัวแทนตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 ระบุว่า ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

มาตรา 821 บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดีรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

มาตรา 822 ถ้าตัวแทนทำการอันใดเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนไซร้ ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตราก่อนนี้เป็นบทบังคับแล้วแต่กรณี

แม้พานทองแท้จะออกมาโพสต์ข้อความว่า “รัฐบาลยังต้องการเอาอะไรจากครอบครัวผมอีก ตกลงความหมายของคำว่าปรองดอง ในมุมมองของรัฐบาลนี้ คือการทำลายล้างฝ่ายที่ถูกตัวเองยึดอำนาจมาให้สิ้นซาก กระทืบกันให้จมดิน เพื่อจะได้เหลือแต่พวกเดียวกัน จะได้ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น หรือการปรองดองหมายถึงการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขกันแน่ครับ"

คุณจะยอมให้พานทองแท้ยกเรื่องเสียภาษี ไม่เสียภาษีมาผูกโยงกับการปรองดองหรือไม่….ผมไม่รู้ แต่ผมไม่ยอมให้มีการปรองดองกับผู้ไม่เสียภาษีเด็ดขาด…

เพราะผมต้องเสียภาษีเงินได้จากหยาดเหงื่อแรงกายทุกบาททุกสตางค์….